Archive for the ‘เกษตร’ Category

เกษตรกรรมต้องปรับพฤติกรรมทำให้เข้ากับธรรมชาติ

February 27, 2013

ในยุคที่ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังปรับตัวให้สอดคล้องเข้ากับสภาพแวดล้อมหรือสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงร้อนขึ้นจากเดิม (global warming)ที่เรียกได้ว่าจะโดยแทบสิ้นเชิงก็ว่าได้เมื่อเทียบกับสี่ซ้าห้าสิบปีที่ผ่านมา ทั้งเหตุการณ์สึนามิ(ที่แทบจะไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยว่าเกิดขึ้นในประเทศไทย), ระดับน้ำทะเลที่เพ่ิมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทำให้เมืองบางเมืองจะต้องจมอยู่ใต้ทะเล, น้ำแข็งขั้วโลกละลาย, แพลงค์ตอนดรอป, ปะการังตาย, โรคแมลงศัตรูพืชระบาด(เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล), ปลาวาฬปลาโลมาเกยตื้น, นกอพยพย้ายถิ่น ฯลฯ และอีกหลายๆสาเหตุที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน และส่วนหนึ่งก็ส่งผลกระทบมายังอาชีพเกษตรกรรมซึ่งมีความเกี่ยวข้องเป็นไปกับระบบนิเวศน์ของธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อาชีพการเกษตรกรรมหลากหลายอาชีพล้วนได้รับผลกระทบในแง่ของผลผลิตลดลง อีกทั้งมีความเสียหายจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงผันแปรอยู่ตลอดเวลาจนทำให้พืชไร่ไม้ผลรวมถึงกลุ่มอาชีพเพาะเห็ดด้วยไม่ได้รับผลผลิตออกมาตามที่ควรจะเป็นเกิดปัญหาการติดดอกออกผลผลิตล่าช้า ดอกเห็ดเหี่ยวแห้งหงิกงอ ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มนุษย์ยังไม่รู้เท่าทันธรรมชาติจึงทำให้วิธีการแก้ปัญหาล่าช้าไม่ตรงจุด แทนที่จะป้องกันแบบผ่อนหนักให้เป็นเบาก็ไม่สามารถทำได้ จึงทำให้ผลผลิตของเกษตรกรทั่วโลกในพืชไร่ไม้ผลหลากหลายชนิดลดน้อยถอยลงจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง (climate change)

ถ้าเกษตรกรโดยทั่วไปสามารถที่จะเรียนรู้สังเกตุธรรมชาติได้อย่างเข้าอกเข้าใจก็สามารถที่จะป้องกันแก้ไขได้อย่างทันท่วงทีหรือในบางครั้งสามารถช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือเห็ดเมื่อทราบว่าวันหนึ่งนั้นมีสภาพอากาศที่ปรวนแปรหลากหลายรูปแบบก็ต้องจัดการแก้ไขให้ใกล้เคียงกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นเห็ดก็ต้องออกแบบโรงเรือนให้มิดชิดสามารถควบคุม (control) อุณหภูมิภายในได้ตามต้องการ แทนที่จะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติข้างนอกหนาว ภายในโรงเรือนหนาว ข้างนอกร้อนภายในโรงเรือนร้อนตามไปด้วยอย่างนี้มีเท่าไรก็เจ๊งหมด ดังเหตุผลที่ได้กล่าวไปเบื้องต้น ส่วนพืชนั้นก็ต้องหมั่นสังเกตุเลือกฤดูกาลและพันธุ์พืชให้สอดคล้องเหมาะสมกับฤดูกาลให้มากที่สุด ปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางด้านนี้ก็มีหลายหน่วยงานทำออกมาได้ดีและมีให้เลือกหลากหลาย อีกทั้งต้องรู้ต้องแก้ในสถานการณ์เฉพาะหน้าให้เป็นว่าควรใช้แร่ธาตุหรือสารอาหารตัวไหนอย่างไรในสภาพภูมิอากาศที่ร้อนจัดหนาวจัดได้อย่างถูกต้องทันการณ์

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

โปรตีนที่หาง่าย เลี้ยงไก่ไว้ถุน ขุนปลาข้างบ้าน งานต้อนรับAEC

September 5, 2012

โลกที่หมุนเวียนเปลี่ยนผ่านมุ่งทยานไปข้างหน้าอย่างไม่มีวันหวนย้อนคืนกลับมาได้ ดังคำเปรียบเปรยที่ว่าสายน้ำไม่มีวันไหลกลับ ส่ิงมีชีวิตทุกชนิดทุกโมเลกุลล้วนต้องได้รับผลกระทบทั้งด้านบวกและลบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้… ดีบ้างแย่บ้างสลับสับเปลี่ยนวนเวียนกันไป แต่ในท้ายที่สุดไม่ว่าความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบต่างๆที่ต้องพานพบประสบเจอจะเป็นอย่างไร ทุกชีวิตจะต้องหาวิธีแนวทางที่จะต้องเรียนรู้อยู่ร่วมกันไปให้ได้อย่างมีความสุขหรือกำจัดปัดเป่าความทุกข์ให้เหลือน้อยที่สุดตามแนวทางแห่งอริยสัจของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มุ่งเน้นการใช้ชีวิตอย่างมีสติอยู่ตลอดเวลา ปัญหาหรือทุกข์ต่างๆก็จะบางเบา

วิถีของมนุษย์ก็เฉกเช่นเดียวกัน ที่จะต้องขยับปรับเปลี่ยนชีวิตก้าวไปให้ทันกับกระแสโลกที่ไม่เคยหยุดน่ิง จากเคยช่วงชิงไล่ล่าอาณานิคมก็เปลี่ยนมาสนิทสนมกลมเกลียวรวมตัวเป็นสหภาพทั้งอียูและอาเซียน จากที่ต่างคนต่างต่างใช้ก็ต้องมาร่วมกันกิน ร่วมกันใช้ในทรัพยากรเดียวกัน นี่ก็เป็นสัณญาณที่ชัดเจนในเรื่องอาหารการกินที่ทุกคนทุกชาติศาสนาจะต้องช่วยกันแชร์แบ่งปันซึ่งกันและกันใครมีอะไรดีๆก็ต้องแบ่งให้เพื่ิอนร่วมโลกที่ไม่เคยคาดคิดว่าจะต้องมาประสบพบเจอ แต่เมื่อโลกมันเล็กลงแต่คนมากขึ้น เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าทุกชีวิตก็ต้องตั้งหน้าตั้งตารับๆกันไป ไม่ว่าผลลัพธ์ในวันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะทุกเรื่องเป็นเรื่องใหม่ไม่มีใครสามารถที่จะคาดเดาพยากรณ์แบบฟันธงอย่างคุณหมอลักษณ์หมอดูชื่อดังได้

ไม่รู้ว่าการรวมตัวกันนั้นจะเป็นการเปิดประตูให้ผู้ที่แข็งแรงกว่าเข้ามากอบโกยเอาทรัพยากรหรือผลประโยชน์ไปแต่ฝ่ายเดียวหรือเข้ามาเกื้อหนุนจุนเจือช่วยเหลือบริหารทรัพยากรภายในประเทศให้เกิดประโยชน์แก่เจ้าของทรัพยากรหรือบุคคลภายนอกมากกว่าซึ่งเรื่ิองนี้เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยระยะเวลาอยู่พอสมควรจึงจะทราบว่าสิ่งต่างๆที่ผันผ่านเข้ามานั้นจะมีคุณหรือโทษมากกว่ากัน แต่สิ่งที่จีรังยั่งยืนไม่ต้องฝืนคอยรอใครนำมาใส่ปากตากท้องรอก็คืออาหารที่เราสามารถผลิตได้เอง อย่างเช่นการปลูกข้าวไว้สีกินเอง เลี้ยงไก่ไว้ใต้ถุน ขุนปลาไว้ข้างบ้าน สานกระถินกลิ่นชะอมไว้ริมรั้ว ปลูกถั่วปลูกงารักษาประเภณีดั้งเดิมไว้ให้คงมั่น ไม่ว่าโลกจะหมุนเร็วหมุนผ่านไปอย่างไรก็ไม่อดตายให้ขายหน้าประชาชีได้แก่ประเทศที่มีแต่เหล็ก น้ำมัน คอมฯ อิเล็กโทรนิคส์ขาย

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

ปลูกพืชที่เป็นอาหารจำเป็นสำหรับชีวิต ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

February 12, 2011

นับ วันพืชอาหารก็มีความจำเป็นและมีราคาแพงเพิ่มขึ้นทุกวัน มะขามเปียกกิโลกรัมละร้อยยี่สิบบาท น้ำมันพืชขวดละ 55-60 บาท (นสพ. ไทยรัฐฉบับ 5 กุมภาพันธ์ 2554) จนต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อนำบริโภคใช้สอยภายในประเทศ ไข่ก็ต้องเปลี่ยนระบบมาทดลองชั่งกิโลขาย ส่งผลทำให้ชาวบ้านร้านตลาดเอ็ดตะโรแสดงความไม่พอใจและสะท้อนมุมมองออกมาให้ เห็นถึงความสามารถของผู้นำในยุคนี้ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเรื่องปากท้องแบบ มือไม่ถึง

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) แสดงความเป็นห่วงในเรื่องของอาหารการกินที่ไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้ บริโภคที่เพิ่มขึ้น แต่ศักยภาพการผลิตกลับน้อยลงเนื่องด้วยเหตุปัจจัยหลายๆอย่าง ทั้งน้ำท่วม ฝนแล้ง ฤดูกาลที่ผันแปร โรคแมลงศัตรูพืชระบาด ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้การผลิตของภาคเกษตรไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้นภาครัฐควรให้ความสนใจในเรื่องการวิจัยพันธุ์หรือการอนุรักษ์พันธุ์ พืชอย่างง่ายกับชาวบ้านตามวิถีโบราณที่บรรพบุรุษเราเคยปฏิบัติ ให้การสนับสนุนในเรื่องพื้นที่ปลูก ระบบชลประทานให้เพียงพอกับความต้องการ หรือส่งเสริมสนับสนุนเงินทุนให้มีการขุดสระน้ำประจำไร่นาเป็นของตนเองเพื่อ มีน้ำไว้ปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี

ประชาชน และเกษตรกรไทยควรหันมาใส่ใจแบ่งพื้นที่ปลูกพืชที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของ ตนเองให้มากขึ้น อย่างเช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด มะพร้าว มะม่วง มะนาว มะขาม สบู่ดำ ปาล์ม ถั่วฝักยาว ถั่วพลู มะเขือ ชะอม มะลิ กะเพรา โหรพา แมงลัก ฯลฯ เพื่อที่จะได้ลดปริมาณการซื้อลงบ้าง ไม่ใช่จะต้องซื้อไปเสียทุกอย่าง ถ้าทำได้อย่างนี้แล้วอย่างน้อยก็ลดความเดือดร้อน ลดความทุกข์ในเรื่องสินค้าราคาแพง หรือเรื่องสินค้าขาดตลาดไปได้พอสมควร สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขไม่ต้องเดือดร้อนไปตามกระแสที่กำลังเป็น ข่าวอยู่ในขณะนี้ดังพุทธสุภาษิตที่ว่า “อัตตาหิ อัตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน” นั้นยังใช้ได้อยู่ดีทีเดียว

เขียนและรายงานโดย นายมนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

เกษตรปลอดสารพิษ พิชิตต้นทุน เกื้อหนุนเศรษฐกิจชาติ

February 4, 2011

ในศตวรรษที่ 21 นี้นับว่ามีเรื่องราวหลายสิ่งหลายอย่างที่แปลกใหม่เพิ่มเข้ามาในชีวิตให้ได้ยินได้ฟังกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโลกร้อน (global warming) ที่ส่งผลทำให้อุณหภูมิโลกเปลี่ยน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย น้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น เกิดเหตุการณ์สึนามิที่ภาคใต้ฝั่งอันดามันของไทย แผ่นดินยุบ แผ่นดินไหว ฝนแล้ง แมลงระบาด สิ่งมีชีวิตทั้งในน้ำและบนบกมีการอพยพย้ายถิ่น หรือจะเป็นเรื่องคาร์บอนเครดิต (carbon credit) ที่สามารถนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนเป็นมูลค่าได้ เมื่อหน่วยงานหรือองค์กรนั้นๆสามารถอนุรักษ์หรือรักษาสภาพของสิ่งแวดล้อมไว้ได้ หรือจะเป็นเรื่องพลังงานทดแทน (Alternative Energy) พลังงานเชื้อเพลิงที่ได้จากต้นไม้หรือพืช ซึ่งในอดีตพวกเราบางคน อาจจะไม่เคยทราบมาก่อนว่าผลผลิตเหล่านี้จะนำมาผลิตแปรรูปเป็นพลังงานเชื้อเพลิงได้ หรือจะเป็นเรื่องสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นในประเทศไทย มีทั้งที่ดูแลตัวเองได้ และหลงๆ ลืมๆ อายุยาวนาน แต่อายุงานเท่าเดิมหรือสั้นลง (หกสิบปีต้องเกษียร) แต่ชีวิตยังต้องกินต้องใช้ต่อไป ใครจะดูแลและรับผิดชอบเรื่องนี้, ในของเรื่องโซเชียลเน็ตเวิร์ค (social network) อย่างเช่นเฟ๊ซบุค (facebook) และทวิตเตอร์ (Twitter) ปรากฎการณ์ที่ผู้คนสามารถสื่อสารพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเป็นเครือข่ายและมีระบบ, เรื่องมือถืออัจฉริยะสมาร์ทโฟน บีบี (blackberry), ไอโฟน (Iphone) ที่สามารถเบียดแทรกเจ้าตลาดที่แข็งแกร่งอย่าง โนเกียร์ (Nokia) ขึ้นมาได้อย่างสง่างาม, เรื่องของเทคโนโลยี 3G เรื่องของอาหารปลอดภัย (Food Safty), เรื่องของความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security) , อาหารอินทรีย์ (Organic food)

ท่าน คิดว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชีวิตประจำวันของเราหรือไม่ โดยเฉพาะอาชีพเกษตรกรในฐานะผู้ผลิตอาหารป้อนโลกมีวิธีการเตรียมพร้อมรับมือ อย่างไรในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาหารการกินที่ปลอดภัยไร้สารพิษ ซึ่งนับวันมีกระแสความต้องการเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ ในแต่ละประเทศเริ่มเข้มงวดกับสินค้าเกษตรที่จะนำเข้าประเทศของตนเองมีการ ตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนในทุกขั้นตอนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการปลูก การเก็บเกี่ยว การขนส่ง (from farm to table) สินค้าชนิดใดที่ไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยเขาก็จะระงับการนำเข้า แต่ถ้าประเทศใดที่มีการบริหารจัดการในเรื่องนี้แบบแย่ๆ ก็จะชิงระงับการส่งออกเสียเองเพราะขืนปล่อยให้มีการส่งออกต่อไปไม่ช้านาน ประเทศเหล่านั้นก็จะสั่งระงับอยู่ดี! สู้ระงับเสียเองดีกว่าจะได้ดูดีแบบผักชีโรยหน้า แต่รากเหง้าของปัญหายังอยู่คงเดิมไม่ได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลง เกษตรกรยังขาดความรู้ความเข้าใจในการผลิตเกษตรปลอดสารพิษ เกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์และเกษตรชีวภาพ เพราะขาดการส่งเสริมที่จริงจังจากภาครัฐในทุกด้านๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรู้ ปัจจัยการผลิต ที่ดินและแหล่งน้ำที่ใช้ในการเกษตร ราคาผลผลิต ทุกเรื่องที่กล่าวมาล้วนแต่ยังคงตรงข้ามกับความต้องการของเกษตรกรแทบทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่นต้นทุนหรือปัจจัยการผลิตเช่นปุ๋ย ยา ฮอร์โมน สารเคมีกำจัดศัตรูพืชควรจะมีราคาที่ต่ำแต่กลับสูง ราคาผลผลิตที่ส่งขายให้พ่อค้าคนกลางแทนที่จะสูงก็กลับต่ำ ความรู้ความเข้าใจแทนที่จะมีตัวแทนจากภาครัฐเข้ามาอบรมส่งเสริมอย่างเพียงพอกับขาดแคลน ทุกอย่างอยู่ตรงข้ามและขัดกับวิถีชีวิตแบบไทยๆของเราที่รากเหง้าบรรพบุรุษของเราอยู่ได้ด้วยการเกษตรกรรม แต่ปัจจัยสนับสนุนพื้นฐานทุกอย่างกลับอนาถาและขาดแคลนอย่างสิ้นเชิง

วิถี ชีวิตความเป็นอยู่และระบบเกษตรกรรมของเกษตรกรในชนบท หรือรอบๆเมืองได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องต้องกันกับกระแสโลกและ ความต้องการของผู้บริโภคในโลกนี้บ้างหรือยัง หรือทำตามแบบอย่างเดิมต่อๆกันมาตามยถากรรม ใช้สารเคมียาฆ่าแมลงมาอย่างไรก็ใช้ไปอย่างนั้นโดยไม่คิดที่จะปรับปรุง เปลี่ยนแปลงอะไรเลยอย่างนี้ก็ไม่ไปไหนย่ำอยู่กับที่ ประเทศไทยในแง่มุมของการทำเกษตรกรรมไม่ต้องสงสัยในศักยภาพของเกษตรกรใน เรื่องการผลิตเลยว่ามีฝีมือเป็นอย่างไร เพราะต้องติดอันดับต้นๆของโลกอยู่แล้ว ขาดก็แต่การพัฒนา ชี้นำทิศทาง การส่งเสริมด้านปัจจัยการผลิตและการตลาดที่ควรจะมีการสนับสนุนจากหน่วยงาน ต่างๆเข้ามาดูแลติดอาวุธทางความคิดให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประเทศของเรามีศักยภาพในการผลิตอาหารเลี้ยงตนเองและโลก เพราะในอนาคตข้างหน้า “อาหาร” เป็นสิ่งจำเป็นมากที่สุดในชีวิตมนุษย์ เพราะ รถยนต์, คอมพิวเตอร์, มือถือ ไม่สามารถกินได้ ดังคำกล่าวของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤษฎากรที่ว่า “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาสิเป็นของจริง”

เกษตรกร ไทยควรหันมาให้ความสนใจและทำความเข้าใจในการทำเกษตรแบบยั่งยืนพอเพียงตาม ทฤษฎีใหม่ของในหลวง เพื่อจะได้เข้าใจภาพรวมทั้งหมดของอาชีพตนเองได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นว่ามี ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเรื่องใดบ้างเพราะทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติล้วน เกี่ยวข้องกันทั้งสิ้นโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ดังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธ เจ้าที่ว่า “เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นจึงมี (อิทัปปัจจยตา)” อย่างเช่นเราจะประโยชน์จากการปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่างเป็นอย่างไร? การปลูกพืชสูง กลาง เตี้ย ผิวดินและใต้ดินคืออะไร? เมื่อได้ป่าแล้วแหล่งน้ำจะได้มาอย่างไร? ในเรื่องพวกนี้เกษตรกรยุคใหม่ควรต้องเข้าใจเพื่อจะได้นำไปปรับใช้ในชีวิต ประจำวันของตนเองเพื่อทำต้นทุนให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อจะได้มีรายได้ส่วนที่เหลือนำไปใช้จับจ่ายในครอบครัวและเก็บออม ต้องเข้าใจภาพรวมทั้งหมดเพราะปัจจัยทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์ กันทั้งสิ้น ปัจจัยใดน้อยเกินไป ปัจจัยใดมากเกินไปก็จะส่งผลกระทบออกมาในรูปแบบต่างๆทั้งด้านบวกและด้านลบไม่ อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ควรเรียนรู้การประกอบอาชีพโดยการพึ่งพาตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ มิฉะนั้นเราจะทำอะไรเองไม่ได้เลย ต้องคอยแต่พึ่งพาบุคคลอื่นอยู่ร่ำไป

การประกอบอาชีพเกษตรกรรมก็ต้องรู้เท่าทันโลกด้วย ตามกระแสโลกาภิวัตน์ให้ทันดังคำของ ซุนวูที่กล่าวไว้ว่า รู้เขารู้เรารบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง ต้องรู้ว่าผู้บริโภคต้องการอะไร คุณลักษณะเป็นอย่างไร แล้วพยายามผลิตให้ได้อย่างนั้นบนพื้นฐานที่อิงศักยภาพและสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นตนเองเป็นหลัก คือไม่ได้หมายถึงให้ปลูกตามความต้องการของตลาดเพียงอย่างเดียว แต่ให้ปลูกบนพื้นฐานเกษตรพอเพียงให้มีพืชกินได้ พืชทำประโยชน์ พืชที่อยู่อาศัยและพืชเศรษฐกิจที่จะนำไปจำหน่ายเพื่อรักษาดุลยภาพแห่งป่าไว้ให้ยั่งยืน จะต้องรู้จักดินซึ่งเป็นพื้นฐานของการทำการเกษตรให้มากพอ รู้จักความเป็นกรด เป็นด่าง รู้จักดินร่วน ดินเหนียว ดินดำ ดินแดง ดินเหลือง จะส่งผลต่อพืชอย่างไร รู้จักฤดูกาลช่วง ร้อน หนาว ฝน จะปลูกพืชอะไรที่เหมาะสมและทนต่อสภาพภูมิอากาศ รู้จักการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จากท้องตลาดให้มากเกิน พยายามทดลองและสังเกตให้ธรรมชาติคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์แข็งแรงด้วยตัวของเขาเอง แล้วนำมาเก็บรักษาและขยายพันธุ์ให้ยาวนานจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อจะได้ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องไปคิดมากว่าขนาดและคุณภาพจะแพ้พันธุ์ลูกผสมเพราะในอนาคตถ้าไม่มีอะไรกิน เมล็ดพันธุ์ที่เราเก็บและคัดเลือกมาอย่างดีก็ต้องมีคนซื้ออย่างแน่นอน บางทีอาจจะได้คุณภาพที่ดีกว่าพันธุ์ลูกผสมอีกด้วย รู้จักน้ำที่จะนำมาใช้ในการรดหรือฉีดพ่นปุ๋ยหรือฮอร์โมน โดยเฉพาะน้ำที่จะนำมาฉีดพ่นนั้นจะต้องตรวจดูให้ดีเสียก่อนว่าเป็นด่างจัดหรือกรดจัดหรือไม่ เพราะอาจจะทำไห้ใบไหม้หรือไปทำลายฤทธิ์ของปุ๋ย ยา ฮอร์โมนได้ (alkali hydrolysis) ทำให้ใช้แล้วไม่ได้ผล ควรศึกษาหาความรู้เรื่องธาตุอาหารของพืชแต่ละชนิดให้มากขึ้นว่าเขาต้องการอะไรบ้าง มีความต้องการธาตุหลัก ธาตุรองธาตุเสริมใช้อัตรามากน้อยแตกต่างกันอย่างไรเพื่อจะได้ไม่ต้องใช้มากจนเกินไป ทำให้ต้นทุนลด ผลผลิตก็เพิ่ม เสริมศักยภาพให้เศรษฐกิจของประเทศของเราได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยเฉพาะภาคเกษตรผมคิดว่าน่าจะมีส่วนช่วยทำให้ GDP ของชาติไทยเพิ่มได้อย่างยั่งยืนและแข็งแกร่งไม่แพ้ภาคอุตสาหกรรม

มนตรี บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 เสนอแนะติชม email : thaigreenagro@gmail.com

ICT กับวิถีเกษตรไทย

June 18, 2010

“เป่าปี่ใส่หูควาย 
ความหมายที่คอยที่ตำ มากมายคิดมองมืดดำ ตอกย้ำว่าโง่เหมือนควาย”
เป็นเนื้อหาท่อนหนึ่งของชื่อเพลง “ไทคม” ทิ่แต่งโดยน้าหมู พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ
ยังจำกันได้อยู่ไหมเอ่ย ก็ไม่ได้คิดที่จะระลึกนึกถึงความหลังเมื่อครั้งที่เพลงเพื่อชีวิตในบ้านเรายังคงได้รับความนิยมสูงในยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมาหรอกครับ
เพียงแต่อยากจะสื่อสารให้ทราบถึงประวัติศาสตร์ในเรื่องของ
ICT (Information and Communication Technology) กับวิถีของเกษตรของไทยนั้นแท้จริงก็มีมาเนิ่นนานแล้ว
เพียงแต่ในปัจจุบันอาจมีรูปแบบที่มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
ที่ดูสวยหรูและทันสมัยมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเท่านั้น  ด้วยความก้าวล้ำนำสมัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำให้
สาร
(message) สื่อ (Channel) มีรูปร่างหน้าตาผิดแผกแตกต่างไปจากเดิมค่อนข้างมาก
ส่วนผู้ส่งสาร
(Sender) และผู้รับสาร (Receiver) นั้นผู้เขียนคิดว่ายังคงเหมือนเดิม (หรืออาจจะมีบางคนคิดว่าผู้รับสารในยุคนี้อาจจะมีความแตกต่างกว่าในอดีตก็เป็นได้นะครับ)

                         ระบบ ICT กับวิถีของเกษตรไทยนั้นนับวันยิ่งมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น
เพราะช่วยอำนวยความสะดวกสบายในด้านข้อมูลที่เกี่ยวกับอาชีพเกษตรอยู่ค่อนข้างมาก
ไม่ว่าจะเป็น การพยากรณ์ฝน ฟ้า อากาศ ของกรมอุตุนิยมวิทยา
ข้อมูลชุดดินของกรมพัฒนาที่ดิน ที่สามารถให้ข้อมูลแก่เกษตรกรได้ว่าดินแต่ละภูมิภาคนั้นมีลักษณะที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
จะพัฒนาหรือปรับปรุงแก้ไขอย่างไรเพื่อให้ปลูกพืชได้  หรือจะเป็น
GIS (Geographic
Information System) บางคนอาจจะงงว่ามันคืออะไร
ก็ขออนุญาตอธิบายพอสังเขปนะครับว่า
GIS นั้นก็คือ
ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ที่สามารถจะบ่งบอกลักษณะทางภูมิศาสตร์ทางกายภาพของสิ่งต่าง
ๆ บนพื้นโลก เช่น ถนน แม่น้ำ ภูเขา อาคาร สถานที่ สิ่งก่อสร้างต่างๆ พื้นที่ป่าไม้
พื้นที่เกษตรกรรม ระดับความสูงความลึก เป็นต้น
เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือรัฐบาลใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลและบริหารงานรวมทั้งด้านเกษตรก็ใช้ได้ด้วยเหมือนกัน
ถ้าสามารถบริหารจัดการข้อมูลให้เข้าถึงตัวเกษตรกรในช่องทางที่ง่าย

                         แต่ปัญหาด้านการสื่อสารการเกษตรของไทยก็ยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร
ตั้งแต่ปี 2539 ที่ภาครัฐมีนโยบาย
IT 2000 (ศูนย์เทคโนโลยีอิเลคทรอนิคส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, 2545) ที่มีพันธกิจ
3 ด้านคือ 1. การลงทุนในโครงสร้างสารสนเทศพื้นฐานแห่งชาติที่เสมอภาค 2.
การลงทุนในด้านการศึกษาที่ดีของพลเมืองและบุคลากรด้านสาสนเทศ และ 3.
การพัฒนาสารสนเทศและปรับปรุงบทบาทภาครัฐ
เพื่อบริการที่ดีขึ้นและสร้างรากฐานอุตสาหกรรมสารสนเทศแข็งแกร่ง  ก็ทำให้ประเทศไทยมีการพัฒนาความสามารถและศักยภาพ
ในด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้ผลอยู่เพียงในระดับหนึ่ง จนต่อมา 2545-2549
รัฐบาลยังคงให้ศูนย์อิเล็กทรอนิคและคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)
ได้ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทยต่อจาก
นโยบาย
IT 2000 และนโยบายเทคโนโลยีสาสนเทศและการสื่อสาร
2544-2553 
ขึ้นเพื่อพัฒนางานด้านเทคโนโลยีและการสื่อสารของประเทศไทยให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
ซึ่งเป็นนโยบายระยะยาวเป็นเวลา 10 ปี โดยมีเป้าหมายและพันธกิจในการดำเนินการที่ชัดเจนโดยมียุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาครอบคุลมใน
5 ด้านคือ

                  
เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาภาครัฐ
(
e-Government)

                  
เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้านพาณิชย์
(
e-Commerce)

                  
เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม
(
e-Industry)

                  
เทคโนโลยีสารสนเทศเพือการพัฒนาด้านการศึกษา
(e-Education)

                  
เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้านสังคม
(e-Society)

                         (เอกสารประกอบการสอนวิชา
01001551การสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศการเกษตร 
รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ)

                         ถึงแม้ว่าการพัฒนาทั้ง
5 ด้านที่ใช้เวลาถึง 10 ปี เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศไทยเราก็ยังเข้าไม่ถึงข้อมูลในด้านต่างๆ
ที่ภาครัฐจัดเตรียมไว้ให้ได้ เพราะตัวเกษตรกรเองนั้นยังไม่เห็นคุณค่าและความสำคัญของเครื่องมือเครื่องใช้เหล่านี้ว่ามีความจำเป็นต่อตนเองมากน้อยแค่ไหน
ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือรับสารอย่างเช่นคอมพิวเตอร์ โน้ตบุค เน็ตบุคฯลฯ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีราคาถูกกว่าแต่ก่อนค่อนข้างมาก
แต่เกษตรกรก็ยังไม่ซื้อหามาเก็บไว้ใช้สอยเพราะอาจจะคิดว่าอย่างไรเสียโทรทัศน์ก็น่าจะมีความจำเป็นมากว่า
รับข้อมูลข่าวสารจากช่องของฟรีทีวีต่างๆหรือจากจานดาวเทียม สามารถดูช่องที่ตนเองต้องได้อย่างสะดวกสบาย
อีกทั้งระบบของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
(Internet) ก็ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่

                         แม้แต่การจัดสรรคัดเลือกระบบเครือข่ายที่ทันสมัยที่สุดในตอนนี้อย่างเช่นระบบ
3
G ที่มีแผนการนำไปใช้แบบใกล้คลอดเต็มที
รัฐก็ยังไม่สามารถที่จะนำออกมาใช้ได้เพราะติดปัญหาการตกลงผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว จนป่านนี้ก็ยังไม่ได้ใช้จนประเทศเพื่อนบ้านของเราได้แซงหน้าไปเรียบร้อยแล้ว
ดังนั้นยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของภาครัฐในด้านการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้คอมพิวเตอร์เพื่อรองรับกับนโยบาย
ICT โดยเฉพาะยิ่งการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการเกษตรด้วยแล้วคงยังห่างไกลความจริงอยู่มาก
เพราะถึงแม้ว่าจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องรับสารแล้ว แต่โครงสร้าง

(Profile)  เครือข่าย (Network)
รวมทั้งเนื้อหา (Content) ก็ยังไม่สามารถที่จะส่งผ่านมายังตัวของเกษตรกรได้อย่างทั่วถึง
ยังคงใช้งานเป็นระบบปิด (
Offline) อยู่ ซึ่งข้อมูลก็แทบจะไม่มีการอัพเดท
หรือมีก็มีอย่างจำกัด ทำให้ไม่เกิดความกระตือรือร้นสนใจในกลุ่มของเกษตรกรให้เกิดความสนใจในเรื่องของ
ICT

                         ในความเป็นจริงแล้วถ้าภาครัฐสามารถที่จะสนับสนุนปัจจัยพื้นฐานในด้าน ICT
ให้ครอบคลุมถึงประชาชนทุกกลุ่มก็นับว่ามีประโยชน์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรสามารถที่จะรับรู้ข้อมูลข่าวสาร
เพื่อประเทืองปัญญานำมาพัฒนาปรับปรุงแก้ไขในอาชีพการงานของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
อีกทั้งเมื่อเจอกับปัญหาด้านการเกษตรในรูปแบบต่างๆ
ก็สามารถที่จะเปิดคอมพิวเตอร์เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อนได้โดยมีแนวทาง
มิใช่ต้องลองผิดลองถูกอยู่เรื่อยไปสิ้นเปลืองทั้งเงินและเวลาปัญหาก็ยังแก้ไม่ได้

                         เมื่อเกิดปัญหาเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์
ก็อาจจะมีบางคนบางกลุ่มบอกให้ไปใช้ที่องค์การบริหารส่วนตำบล ( อบต.) หรือศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร
โดยไม่ได้ดูความเป็นจริงเลยว่าเครื่องคอมพิวเตอร์สองสามเครื่องนั้นกับเกษตรกรทั้งตำบลมันมีความเพียงพอพอดีกันหรือไม่
หรืออาจจะแย้งว่าให้ดูคนเดียวแล้วนำไปบอกต่อๆ กัน ในความจริงมันก็เป็นไปไม่ได้เพราะปัญหาของพี่น้องเกษตรกรนั้นมีความหลากหลายในสายอาชีพเกษตรของเขา
ทั้งปลูกมะเขือ, ฟักแฟง, แตงกวา,อ้อย, ข้าว, ยางพารา, มันสำปะหลัง ฯลฯ แล้วจะให้เขาเหล่านั้นมัวแต่รอหาข้อมูลทั้งหมดจากเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่กี่เครื่องเทียบกับจำนวนผู้ใช้ทั้งตำบลนั้นมันไม่สอดคล้องกัน
จึงยิ่งทำให้ประชาชนหรือเกษตรกรไทยยิ่งมีความรู้สึกเบื่อหน่ายไม่อยากเข้าใกล้คอมพิวเตอร์
ไม่อยากเข้าใกล้
ICT มากไปใหญ่
เพียงเพราะภาครัฐไม่ใส่ใจดูแลอย่างจริงจังให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในด้านเครือข่ายที่ครอบคลุม
และอุปกรณ์การรับสารให้มีราคาที่ซื้อหาได้ง่ายราคาย่อมเยาว์
ก่อนที่จะพัฒนาผู้รับสารต่อไปในอนาคต

                         สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะพัฒนาระบบ ICT ของไทยมีความก้าวหน้ามีความสัมพันธ์กันทั้งระบบก็คือการพัฒนาตัวของเกษตรกรผู้รับสารหรือผู้ที่จะใช้เทคโนโลยีให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มจากเดิมให้มากยิ่งขึ้น
อาจจะต้องมีหน่วยงานที่เข้ามาให้ความรู้ความเข้าใจอย่างจริงจัง
อาจจะมีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้คอมพิวเตอร์ประจำตำบลทุกๆ ตำบล
จัดการฝึกอบรมเป็นรุ่นๆ รุ่นละหลายๆรอบจนกว่าเกษตรกรในแต่ละตำบลทั่วประเทศจะมีความสามารถใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ได้
อีกทั้งก็พัฒนาหลักสูตรการศึกษาภาคปกติให้มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เข้มข้นมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
เพื่อพัฒนาลูกหลานของพี่น้องเกษตรซึ่งอยู่ในวัยที่แคล่วคล่องว่องไว สามารถเรียนรู้เทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ได้ดีกว่าผู้ใหญ่เพื่อเมื่อเติบโตขึ้นก็สามารถที่จะเป็นบุคคลากรที่มีคุณภาพสามารถรองรับระบบ
ICT ที่ภาครัฐพยายามพัฒนาให้เป็นหน้าเป็นตาแก่ประเทศอวดชาวโลกอยู่ในขณะนี้
มิฉะนั้นก็ไม่สามารถที่จะทำให้ข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีสามารถกระจายไปยังผู้รับสารทั่วประเทศได้
ทำให้การพัฒนาของภาครัฐก็จะล่าช้าขาดทั้งประสิทฺธิภาพและประสิทธิผลเพราะมัวแต่พัฒนาแต่
ICT เพียงด้านเดียวโดยไม่พัฒนาอีกฟากหนึ่งไปพร้อมกันด้วย

                         ดังนั้นไม่ว่าภาครัฐจะมีมาตรการ
เครื่องมือ เทคโนโลยี และข้อมูลข่าวสารที่มากมายเพียงใด
แต่ถ้าการบริหารจัดการที่ส่งลงไปนั้น
ประชาชนยังคงมีความรู้สึกว่าเครื่องมือหรือวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้รับสารหรือใช้รองรับเทคโนโลยีที่ถูกป้อนมานั้น
ยังไม่สามารถที่จะซื้อง่ายใช้สะดวก (เพราะจะรอของฟรีจากภาครัฐมาใช้ รัฐบาลก็ไม่มีงบประมาณมากพอที่จะซื้อหรือจัดหาให้ประชาชนได้ทุกครัวเรือน)
ดังนั้นสิ่งที่ภาครัฐควรจะส่งเสริมได้ดีที่สุดก็คือ
การวางสาธารณูปโภคพื้นฐานเช่นโทรศัพท์บ้าน เพื่อให้เกษตรกรในชนบทห่างไกลสามารถจะเข้าถึงอินเตอร์เนตได้
และจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ราคาย่อมเยาว์และมีคุณสมบัติที่รองรับเทคโนโลยีจากภาครัฐได้
ไม่ใช่นำคอมพิวเตอร์ราคาถูกมาแต่ใช้ได้แค่เปิดเครื่องเล่นเกมส์ พิมพ์รายงานได้เพียงอย่างเดียว
อย่างอื่นทำไม่ได้เพราะคุณสมบัติไม่ถึงก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ยิ่งทำให้ระบบ
ICT ของประเทศไทยคงจะไปไม่ถึงไหนล้าหลังอยู่เช่นนี้เรื่อยไป
เปรียบได้ดังกับการพยายามส่งสารไปยังผู้รับที่ไม่มีมีประสิทธิภาพขาดแคลนเครื่องมือ
หรือตัวผู้รับสารเองก็ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ อย่างนั้นก็จะต่างอะไรเล่ากับการได้แค่เพียง
“เป่าปีให้ควายฟัง” ล่ะเน้อ…

 

 

นายมนตรี  บุญจรัส   

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

อินเดียหันปลูกข้าวสาลี บราซิลเน้นปลูกอ้อยเพื่อทำเอทานอล ราคาน้ำตาลปีนี้น่าจะราคาดี!

March 20, 2009

จากที่ได้จั่วหัวเรื่องไว้เกี่ยวกับราคาน้ำตาลที่ในปีนี้ (2552) อาจจะดีขึ้น เพราะว่าความต้องการน้ำตาลในระดับโลกนั้นมีสูงขึ้น แต่กำลังการผลิตกลับตรงกันข้าม คือลดน้อยถอยลง ส่วนหนึ่งก็นำไปเป็นอาหารให้แก่เครื่องจักรกลซึ่งนับวันจะเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ! จะสังเกตเห็นได้ว่าเครื่องจักรเริ่มมีบทบาทและอิทธิพลต่ออาหารของมนุษย์มากขึ้น อินเดียหันไปปลูกข้าวสารลีเพิ่มขึ้นจากที่เคยผลิตน้ำตาลได้ได้ 29 ล้านตันต่อปีก็ลดลงมาเหลือ 20 ล้านตันต่อปีทำให้จากที่เป็นประเทศที่ส่งออกน้ำตาลอันดับต้นๆ ของโลก กลับต้องนำเข้าน้ำตาลเสียเองและเหมือนว่าจะต้องเพิ่มมากขึ้นทุกที

 ส่วนบราซิลนั้นก็จะเน้นไปที่พลังงานทดแทนเป็นส่วนใหญ่ โดยจะนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลมากถึง 60 % ของปริมาณอ้อยที่ประเทศบราซิล ผลิตได้ทั้งหมดประมาณ 500 ล้านตันทำให้ปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกไม่เพียงพอต่อความต้องการ ปัจจัยสำคัญอีกตัวหนึ่งก็คือความผันผวนของราคาน้ำมันซึ่งต้องดูว่าในปีนี้ราคาน้ำมันจะสูงหรือไม่ ถ้าราคามันสูงขึ้นมาก พลังงานทดแทนก็จะมีบทบาทสำคัญยิ่งทำให้ราคาอ้อยเพิ่มสูงขึ้นจากการที่นำมาผลิตเป็นเอธานอล จึงทำให้ราคาอ้อยโดยรวมในปีนี้น่าจะดีขึ้นมาก

เกษตรกรควรแบ่งพื้นที่สำหรับปลูกอ้อยไว้บ้าง แทนที่จะปลูกแต่ข้าวเพียงอย่างเดียว เพราะราคาข้าวในปีนี้คงจะทรงตัวและไม่แพงหวือหวาเหมือนในปีที่ผ่านมา เพื่อมิให้มีผลผลิตของข้าวออกมามากจนเกินไป ส่งผลให้ราคาตกต่ำ ส่วนชาวไร่อ้อยก็ควรหันมาให้ความสนใจกับการทำให้ต้นทุนลด ผลผลิตเพิ่มให้มากขึ้น โดยการทำการตรวจวัดกรดด่างของดินให้มีค่าพีเอช 6.0 – 6.5 ใช้ภูไมท์ซัลเฟต หว่านเพื่อปรับปรุงสภาพดินก่อนเตรียมแปลงหรือหว่านหลังปลูกเพื่อเพิ่มสารอาหารซิลิก้า ฟอสฟอรัส แคลเซียม และซัลเฟอ  จะทำให้อ้อยแข้งแกร่ง ต้านทานต่อโรคแมลง มีน้ำหนักผลผลิตโดยรวมเพิ่มมากขึ้น (คุณพิศิษฐ์  ทรัพย์อุดมมาก 0-83540-6266)  ฉีดพ่นซิลิโคเทรซ ร่วมกับ ไคโตซาน MT ทางใบ เพื่อสะสมอาหาร เมื่อตัดขายก็จะได้ราคาดีความความหวานได้ตามมาตรฐาน ถ้ามีการจัดการดูแลอย่างถูกวิธีแล้วก็สามารถที่จะทำให้มีอ้อยไว้จำหน่ายในช่วงระยะที่ราคาแพงได้มาก ต้นทุนต่ำ กำไรเยอะ ปรึกษาข้อมูลเพิ่มเติม 0-2986-1680 – 2

 

มนตรี   บุญจรัส

รัฐบาลชุดใหม่ควรส่งเสริมและพัฒนาพลังงานจากธรรมชาติต่อไป

January 15, 2009

ในสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันผันผวนจากเหตุการณ์ความวุ่นวายต่าง ๆ ของมิตรประเทศทั่วทุกมุมโลกทำให้เกิดการกักตุนน้ำมันสำรองไว้ใช้ภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น กอรปกับการปั่นราคาของนักเก็งกำไรที่พยายามดึงราคาให้สูงกว่าความเป็นจริง ทำให้ประเทศที่บริโภคน้ำมันจากซากฟอสซิลเหล่านี้ต้องใช้น้ำมันในราคาที่สูงเกินจริงถึงลิตรละเกือบ 50 บาทโดยเฉพาะประเทศไทย

ราคาน้ำมันที่แพงลิบลิ่วนี้เองส่งผลทำให้ได้รับความเดือดร้อนกันแทบทุกแห่งหนไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตร อุตสาหกรรม เหมืองแร่ ท่องเที่ยว และพนักงงานออฟฟิศที่ต้องใช้รถเป็นพาหนะขับไปกลับทุกวัน เป็นเหตุให้มีการกระเสือกกระสนค้นหาสิ่งทดแทนน้ำมันที่มีราคาถูกกว่านำมาใช้กัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันพืช น้ำมันสัตว์ ไบโอดีเซล เกิดความคิดแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน มีสูตรการผลิตต่างๆ ออกมาอย่างมากมายในช่วงระยะเวลานั้น

กลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนไม่แพ้กันและดูเหมือนจะหนักหนาสาหัสกว่าเพื่อนเขา ก็คือกลุ่มของเกษตรกร เพราะราคาน้ำมันที่สูงทำให้ต้นทุนในการเตรียมแปลง ทำเทือก ยกร่อง วิดน้ำและฉีดพ่นยาฆ่าแมลง ล้วนแล้วแต่จะต้องใช้น้ำมันทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันดีเซลนับว่ามีความจำเป็นอย่างมากต่ออาชีพของพี่น้องเกษตรกร

จึงมีความตื่นตัวกันอย่างมากที่จะผลิตน้ำมันไบโอดีเซลไว้ใช้กันเอง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและเอกชน สังเกตว่าในช่วงที่ผ่านมาเราจะได้ยินคำว่า แก๊สโซฮอล์ เอทธานอล ไบโอดีเซลล์กันอยู่บ่อยๆ และเริ่มค่อย ๆ เงียบลงในช่วงปลายปี เพระว่าราคาน้ำมันโลกหดตัวลดลงอย่างมาก เหลือราคาลิตรไม่ถึง 20 บาททำให้แรงกระตุ้นในการผลิตน้ำมันจากพืชและการส่งเสริมจากภาครัฐก็ทำท่าว่าจะลดน้อยถอยลงไปทุกที

การส่งเสริมให้ผลิตน้ำมันไบโอดีเซลและก๊าซโซฮอล์ใช้เองภายในประเทศ นับว่าเป็นผลดีต่อพี่น้องเกษตรกร เพราะช่วยทำให้ราคา ปาล์ม อ้อย ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง ข้าวโพด มีราคาแพงตามไปด้วย ส่งผลทำให้รายได้ของพี่น้องเกษตรเพิ่มขึ้น อีกทั้งประเทศของเราเป็นประเทศเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ของประเทศควรจะต้องส่งเสริมให้ราคาพืชผลทางด้านการเกษตรมีราคาสูงเหมือนกับที่คุณธนินทร์  เจียรวนนท์ได้เคยออกมาให้สัมภาษณ์อยู่บ่อยๆ  เพราะจะทำให้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศร่ำรวยขึ้นมา ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดีขึ้น เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่มีกำลังซื้อที่เพิ่มมากขึ้น

รัฐบาลใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ ควรที่จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการผลิตน้ำมันจากธรรมชาติภายในประเทศเป็นอันดับต้นๆ พร้อมไปกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ จะทำให้เกิดการยอมรับได้ง่ายขึ้น เพราะเกษตรกรซึ่งเป็นคนที่มีรายได้น้อยที่สุดในประเทศจะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำเพิ่มขึ้นจากราคาพืชพันธุ์ธัญญาหารที่เพิ่มขึ้นนี้เอง ทำให้ลืมตาอ้าปากได้ มีสภาพคล่อง มีเงินไปชำระหนี้ และซื้อข้าวปลาอาหารเลี้ยงปากเลี้ยงท้องในครอบครัว ไม่เครียด ไม่หงุดหงิด ไม่ระแวง ทำให้สุขภาพจิตดี มองโลกใน่แง่ดีไม่เป็นอันตรายต่อรัฐบาล

 

มนตรี  บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ  www.thaigreenagro.com

เกษตรกรรุ่นใหม่กับไร่นาสวนผสมปลอดสารพิษ

December 4, 2008

ในปัจจุบันมีผู้หันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับสุขภาพ และการดำรงชีวิตให้ห่างไกลจากสารเคมีที่เป็นอันตรายเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ  มีความพิถีพิถันเรื่องอาหารการกินโดยจะมีการสืบค้นเสาะหาแหล่งที่มาจนเกิดความแน่ใจว่าปลอดภัยจริง ๆ ถึงจะซื้อหามาบริโภคไม่เว้นแม้แต่ผลิตภัณฑ์ทางด้านการเกษตร เช่น พืชผักผลไม้ต่าง ๆ ผู้บริโภคต่างเริ่มตระหนักถึงพิษภัยและหันมาปลูกพืชผักไว้ทานกันเองในครอบครัว มากกว่าที่จะไปซื้อหาจากท้องตลาด เพราะไม่มั่นใจว่าผักผลไม้ที่รับประทานอยู่นั้นผ่านการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงต่างๆอะไรมาบ้าง ซึ่งอาจจะส่งผลข้างเคียงหรือก่อให้เกิดปัญหาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ตามมาในอนาคตได้

 

นี่ก็เป็นชีวิตอีกด้านหนึ่งของเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ใส่ใจต่อคุณภาพและพิถีพิถันต่อการปลูกพืชผักแบบปลอดสารพิษและมุ่งมั่นพัฒนาไปสู่เกษตรอินทรีย์ในอนาคต คุณอาทิตย์  เสริมทรัพย์   บ้านเลขที่ 63/3  หมู่ 2  แขวงทวีวัฒนา   เขตทวีวัฒนา  กรุงเทพมหานคร  10170  เป็นสมาชิกของชมรมเกษตรปลอดสารพิษ เลขที่ 10007228    เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่นิยมการทำเกษตรอินทรีย์  โดยเพาะปลูกพืชเป็นแบบสวนผสม  ปลูกผัก  ชนิดต่าง ๆ  เช่น  บวบ  ถั่วฝักยาว  มะเขือ  ผักบุ้ง ฯลฯ อีกทั้งยังมีแปลงไม้ดอกเช่น มะลิ  ดาวเรือง  สร้อยทอง  อยู่บนเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่  ส่วนใหญ่จะปลูกเอง ขายเอง  โดยตลาดที่ไปส่งอยู่เป็นประจำคือ ปากคลองตลาด   

 

คุณอาทิตย์ ได้แจ้งว่าทุกครั้งที่จะใส่ปุ๋ยเคมีจะใช้ภูไมท์ซัลเฟต คลุกผสมกับปุ๋ยทุกครั้ง ในอัตราส่วน ปุ๋ยยูเรีย 5  กิโลกรัม  ต่อ ภูไมท์ซัลเฟต ½ กิโลกรัม  และให้อาหารเสริมในกลุ่มจุลธาตุจาก ซิลิโคเทรช  ฉีดพ่นทางใบเพื่อบำรุงสภาพต้นโดยรวมของ มะลิ   ดาวเรืองและพืชผักต่างโดยใช้ ทุก ๆ 5 วัน ส่วนในช่วงที่ต้องการให้เกิดดอก จะทำการบำรุงต้นให้สมบูรณ์และปล่อยให้มีการสะสมอาหารอย่างเพียงพอจึงจะใช้ ไวตาไลเซอร์กระตุ้นตาดอก ร่วมกับ ฮอร์โมนไข่  โดยฉีดพ่น  ทุก ๆ 7 วัน  ส่วนใหญ่จะใช้กับ มะลิ  และดาวเรือง  ในช่วงที่ มะลิ และดาวเรืองแพง ซึ่งจะอยู่ในช่วงฤดูหนาว และ ฤดูฝน  ช่วงเทศกาล วันแม่  คุณอาทิตย์บอกว่า  ขายดอกมะลิได้ราคาดีมากโดยตกอยู่ที่ลิตรละ  800-1,000 บาท

 

ส่วนปัญหาโรคพืชและแมลงศัตรูพืช  ก็คง หนีไม่พ้น  เรื่องของ หนอน  เพลี้ยไฟ   ไรแดง  เพลี้ยอ่อน  เพลี้ยแป้ง  ด้วงหมัดผัก  แต่คุณอาทิตย์ ก็สามารถ แก้ปัญหาต่างๆ ได้โดยง่าย  โดยจะใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์  ทริปโตฟาจ    1 ขีด  ต่อ น้ำ 20 ลิตร ทำการฉีดพ่นในช่วงที่ระบาด ทุก ๆ 3 วัน  ติดต่อกัน 3-4 ครั้ง  ถ้าจะกำจัดหนอนไปด้วยก็จะใช้ร่วมกับเชื้อบีทีชีวภาพอัตราตามคำแนะนำในฉลาก ซึ่งวิธีการทั้งหมดจะไปไม่ใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมเลย และคุณอาทิตย์ยังได้บอกต่ออีกว่า หลังจากที่เริ่มทำเกษตรแบบปลอดสารพิษ  รู้สึกว่าสุขภาพของตัวเองดีขึ้นมาก ชีวิตที่มีแต่ความปลอดภัย ชีวิตที่มีแต่ความสุข ชีวิตที่อิงอยู่กับเกษตรและธรรมชาติหรืออาจจะเรียกว่าชีวิต “สีเขียว”  ผู้ใดที่ไม่อยากมีชีวิตแบบสีแดงสีเหลืองก็ลองหันมาใช้ชีวิตแบบสีเขียวก็ไม่ว่ากันนะครับ  สนใจข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 089-4442366

 

มนตรี   บุญจรัส

www.thaigreenagro.com

ประสบการณ์ของคนที่รักเกษตรปลอดสารพิษ

December 4, 2008

คุณทวี  ชุมทอง  สมาชิกชมรมเกษตรปลอดสารพิษและอดีตพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ผันตัวเองหลังจากเกษียณอายุราชการ ไปเป็นนักจัดรายการวิทยุ คลื่น 95.25 (ชุมชนโชคสมาน)และยังเป็นนักส่งเสริมการเกษตรแบบปลอดสารพิษ  ท่านกล่าวว่า ครั้งหนึ่งได้ไปพบเจอเกษตรกรเป็นลม น็อคขณะฉีดพ่นยาฆ่าแมลงศัตรูพืช เหตุการณ์ครั้งนั้นจึงจำติดตามาตลอดและทำให้คิดหาวิธีการลดหรือเลิกการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช อีกทั้งหาวิธีการเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรในพื้นที่ที่อาศัยอยู่

คุณทวี กล่าวต่อไปว่า ตนเป็นลูกเกษตร 100 % (พ่อแม่ มีอาชีพทำนา)ภูมิลำเนาเดิมอยู่จังหวัดนครศรีฯ มีโอกาสได้ไปปฏิบัติงานที่สถานีรถไฟจังหวัดสงขลา มีความคุ้นเคยและผูกพันธ์กับคนในพื้นที่มากยิ่งขึ้นเหมือนญาติพี่น้อง จึงได้เก็บรวบรวมเงินก้อนหนึ่งเพื่อซื้อที่ดิน 1 แปลงในเขตจังหวัดยะลา ทำการเกษตรแบบผสมผสานโดยปลูกพืชหลายๆ ชนิดในแปลงเดียวกันเช่น ทุเรียน ลองกอง มังคุด เป็นต้น

ช่วงแรกๆ ก็มีปัญหาเกี่ยวกับหนอนชอนเปลือกในลองกอง จึงได้หาวิธีการปราบหนอนแบบปลอดสารพิษจากในหนังสือนิตยสารหลายๆเล่มด้วยกัน ซึ่งได้มีโอกาสอ่านเจอบทความเกี่ยวกับการปราบหนอนโดยใช้จุลินทรีย์จากในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และได้โทรศัพท์ติดต่อขอคำปรึกษาจากนักวิชาการ ซึ่งได้คำแนะนำให้ใช้เชื้อ บีที-ชีวภาพ หมักขยายเชื้อด้วยไข่ไก่สด ซึ่งมีวิธีการหมักดังนี้  ใช้น้ำ15 ลิตร  ไข่ไก่สด 5 ฟอง   เชื้อ บีที-ชีวภาพ 5 กรัม  สเม็คไทต์ ½ กก.  น้ำมันพืชประมาณ 2 ช้อนชา  ผสมให้เข้ากันหมักไว้ 24 ชั่วโมง โดยมีการเป่าให้อากาศแบบให้อ๊อกซิเจนในตู้ปลา แล้วนำเชื้อที่หมักขยายแล้วผสมกับน้ำ 5 ปิ๊บ (100 ลิตร) ฉีดพ่นบริเวณที่เจอหนอนหรือฉีดให้ชุ่มโชกทั่วทั้งลำต้น ทุกๆ 3-5 วัน (ช่วงระบาดรุนแรง) ประมาณ 2-3 สัปดาห์ จะพบว่าหนอนเริ่มลดลงหรืออาจจะพบเจอตัวหนอนแห้งตายติดอยู่บริเวณเปลือกลำต้น

นี่เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ คุณทวี  ชุมทอง ประทับใจในผลิตภัณฑ์ของชมรมเกษตรปลอดสารพิษ ปัจจุบันนี้ท่านยังคงใช้อยู่ซึ่งถืออุดมคติที่ว่า "คนกินปลอดภัย คนปลูกก็สบายใจ"  อีกทั้งยังแนะนำให้เพื่อนเกษตรกรทั้งใกล้ และไกล ใช้ผลิตภัณฑ์ถ้ามีโอกาสไปเยี่ยมเยียนพบปะพูดคุย  ก็จะผลักดันและส่งเสริมเกษตรโดยเฉพาะการปลูกผักแบบปลอดสารพิษออกสู่ตลาดกลางในตัวเมืองหาดใหญ่  อีกทั้งยังเป็นแกนนำกลุ่มส่งเสริมการเกษตรแบบปลอดสารพิษให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  หากเกษตรท่านใดสนใจหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ คุณทวี ชุมทอง สถานีวิทยุชุมชนโชคสมาน เลขที่ 1 ซ.4 ถ.โชคสมาน 5 ต.หาดใหญ่   อ.หาดใหญ่  จ.สงขลา 90110 โทร. 081- 5998561 หรือติดต่อทาง  http://www.LiveFM9525.com  ทุกๆวันเสาร์ เวลา 17.00 19.00 น.

 

มนตรี   บุญจรัส

www.thaigreenagro.com

งานและหน้าที่ของหมอรักษาพืช

December 4, 2008

จากประสบการณ์อันยาวนานในด้านการเป็นที่ปรึกษาและดูแลการผลิตเกษตรให้แก่พี่น้องเกษตรกรรอบ ๆ กรุงเทพฯและปริมณฑลของพี่อรรนพ  ศรีรัตน์ ทำให้เกิดการสั่งสมเพิ่มพูนประสบการณ์ค่อนข้างมากและยาวนานจนมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างดีเยี่ยม สามารถที่จะวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ในเรื่องของการผลิตทางด้านปัจจัยการผลิต โรค แมลงและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ว่ามีความเหมาะสมต่อพืชผักไม้ผลที่ชาวบ้านเหล่านั้นได้ปลูกกันหรือไม่ จนเป็นที่ไว้ใจและเป็นที่พึ่งพาไปพร้อมกันของพี่น้องเกษตรกรในละแวกดังกล่าวเป็นอย่างดี

คุณอรรนพ  ศรีรัตน์ คนรักพืชชาว ก.ท.ม. บ้านเลขที่ 57 จัดสรรรถไฟ ทุ่งสองห้อง แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่จังหวัดกรุงเทพมหานคร 10210 ได้สรุปหลักการปลูกพืชให้ได้ผลผลิตและต้นทุนต่ำจะต้องมีปัจจัยหลัก ๆ อยู่ 2 ข้อ คือ 1. การทำให้ดินมีชีวิต 2. การทำให้พืชแข็งแรง

จากประสบการณ์ที่ได้ทำการเกษตร รวมทั้งการศึกษาและคลุกคลีเกี่ยวกับการเกษตรมาเป็นเวลานานหลายปีจึงได้พบว่าปัญหาที่ทำให้การทำการเกษตรไม่เป็นผลสำเร็จนั้น เกิดจากสาเหตุสองประการ  คือ 1. ดินไม่มีธาตุอาหารและไม่มีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ช่วยในการย่อยสลายพวกซากพืชซากสัตว์ 2. พืชอ่อนแอจึงทำให้เกิดโรคและตายไป เพราะฉะนั้นก่อนอื่นใดเราจึงต้องปรับปรุงดินให้ดีหรือให้ดินมีชีวิตเสียก่อน แล้วจึงจะสามารถปลูกพืชให้ได้ผลผลิตอย่างสมบูรณ์ได้

ในส่วนของพี่อรรนพแล้วจะใช้ปัจจัยการผลิตส่วนใหญ่จากผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของทางชมรมเกษตรปลอดสารพิษในการที่จะนำไปแก้ปัญหาและปรับปรุงสภาพดินให้แก่พี่น้องเกษตรมาโดยตลอด

การทำดินให้มีชีวิตโดยวิธีการหลีกเลี่ยงการใช้ยาและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและยาฆ่าหญ้า  และหันมาใช้ภูไมท์ซัลเฟตช่วยในการปรับปรุงสภาพดินให้มีความโปร่งร่วนซุย ระบายถ่ายเทน้ำดีพร้อมกันกับใช้ภูไมท์ธรรมดาคลุกผสมกับปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกหรือจะเป็นปุ๋ยเคมีก็ได้ เพื่อช่วยจับตรึงปุ๋ยหรือแร่ธาตุอาหารที่ละลายออกมาจากอินทรียวัตถุให้กลายเป็นปุ๋ยละลายช้า ซึ่งช่วยทำให้พืชไม่เฝือใบ หลังจากที่ดินได้ถูกปรับปรุงจนมีสภาพและเรียกระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์กลับมาความสมดุลย์ต่างๆ ก็จะกลับมาด้วยเช่นกัน นั่นก็คือกลุ่มของพวกจุลินทรีย์ที่ช่วยในการย่อยสลายซากพืชซากสัตว์รวมทั้งไส้เดือนดิน และสัตว์หน้าดินอื่นๆ ที่มีประโยชน์กับพื้นดินในปริมาณที่มากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่มีการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงมากจึงทำให้สัตว์หน้าดินและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์พวกนี้ตายหมด อีกทั้งการใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียวเป็นระยะเวลานานจนทำให้ดินแน่นแข็งและเป็นกรดไม่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของพืช เมื่อดินเรามีชีวิตดีขึ้นแล้วาก็สามารถปลูกพืชได้ดีและทำให้ได้ผลผลิตอย่างสมบูรณ์

               

การทำให้พืชแข็งแรง           เมื่อก่อนมีการเร่งพืชให้มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วโดยการใช้ปุ๋ยเคมีที่มีสูตรตัวหน้าสูงจนทำให้พืชไม่แข็งแรง อ่อนแอ ไม่มีความทนทานต่อโรคและแมลงที่เข้าทำลายทำให้เกิดการล้มตายบ้างหรือได้ผลผลิตที่ไม่ดีเท่าที่ควรนัก  แต่ในที่นี้เมื่อเรามีการปรับปรุงดินให้ดีแล้วจะปลูกอะไรก็งอกงามและแข็งแรงมีความต้านทานโรคสูง เนื่องจากในตัวภูไมท์ซัลเฟต มีธาตุอาหารมากมายทที่จำเป็นต่อพืช

พี่อรรนพยังกล่าวอีกว่า โรคต่างๆ ที่เกิดกับพืชนั้นล้วนมีต้นสายปลายเหตุทั้งสิ้น เมื่อเรารู้สาเหตุและสามารถที่จะแก้ไขให้ทันเวลา พืชก็จะไม่เสียหายมาก เช่นโรคที่เกิดจากไส้เดือนฝอยเข้าทำลายมากเป็นพิเศษอย่างกับ พริกและฝรั่ง ทำให้ต้นและใบหงิกงอ เหี่ยวเฉา ไม่โต ให้ผลผลิตลดน้อยลง พอขุดรากออกมาดูจะพบว่าเป็นปมอยู่ที่รากจำนวนมาก แต่สามารถที่จะป้องกันรักษาได้ทันท่วงทีโดยการใช้ กากน้ำตาล 1 ลิตร ละลายในน้ำ 20 ลิตร และใส่เชื้อไตรโคเดอร์ม่า 100 กรัม หรือ 1 ขีด หมักทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง  และนำถังอีกใบใส่น้ำ 200 ลิตร จากนั้นใส่ภูไมท์ซัลเฟต 1 กระสอบ (20 กิโลกรัม) คนให้ภูไมท์ซัลเฟตละลายกับน้ำ  ซึ่งเป็นการเปลี่ยนรูปจากผงไปเป็นสารละลาย  จากนั้นก็นำเชื้อไตรโคเดอร์ม่าที่หมักไว้ 8 ชั่วโมงนั้น มาผสมกับน้ำ  ภูไมท์ซัลเฟตแล้วนำไปราดตามโคนพริกและฝรั่ง

เชื้อไตรโคเดอร์ม่าตัวนี้ เมื่อหมักกับกากน้ำตาลแล้วจากเดิมที่มีรูปเป็นเส้นแขนงก็จะแบ่งตัวออกมาเป็นแท่งสั้นๆจากนั้นก็จะม้วนตัวเหมือนรูปโดนัสเข้ารึงรัดตัวไส้เดือนฝอยกินเป็นอาหาร “ซึ่งเป็นการกินข้ามอาณาจักรเลยทีเดียว และจะกินไส้เดือนฝอยที่อยู่รอบบริเวณจนหมดส่วนพวกที่สร้างซีสอยู่ภายในรากพริกหรือฝรั่งเชื้อไตรโคเดอร์ม่าก็จะเข้ากินไม่ได้” พี่อรรนพกล่าว อีกทั้งกระบวนการออสโมซีสจะดูดกินสารละลายภูไมท์ซัลเฟตนี้ผ่านเข้าไปในผนังเซลของราก ช่วยทำให้เซลล์รากแข็งแกร่งต้านทานต่อการเข้าทำลายได้ดี รวมทั้งภูไมท์ซัลเฟตจะมีเศษผลึกของหินเขี้ยวแก้วหนุมานมีลักษณะเป็นเกล็ดแก้วแวววาวเมื่อกระทบกับแสงไฟ หรือแสงจาดดวงอาทิตย์โดยเศษผลึกของหินแก้วนี้จะเข้าไปทำลายสร้างความระคายเคืองให้แก่ไส้เดือนฝอยที่อยู่ในซีสจนตาย และในคุณสมบัติพิเศษของภูไมท์ซัลเฟตนี้เองที่ซึ่งอุดมไปด้วยแร่ธาตุอาหารมากมายจะช่วยให้ทำพริกและฝรั่งฟื้นตัวเจริญเติบได้รวดเร็วยิ่งขึ้น น้ำที่ได้จากการละลายของภูไมท์ซัลเฟตทำการฉีดพ่นให้ชุ่มโชกทั่วทั้งต้นและใบเมื่อผิวใบแห้งแล้วจะเป็นคราบขาวๆ ของภูไมท์ซัลเฟตติด อยู่ ซึ่งคราบขาวๆ เหล่านี้จะเป็นเกราะคุ้มกันไม่ให้แมลงหรือราเข้าทำลายได้

ปัญหาและการป้องกันกำจัดโรคทางใบก็เหมือนกัน แต่จะใช้พลายแก้วหมักในน้ำมะพร้าวอ่อน 24 – 48 ชั่วโมง ผสมน้ำ 20 ลิตรและนำไปฉีดพ่นทางใบเหมือนกับวิธีแรก และในเรื่องของการเกิดโรคไวรัสด่างวงแหวนในมะละกอนั้น พี่อรรนพยังบอกอีกว่าโรคนี้มีสาเหตุเกิดมาจากเชื้อไวรัสซึ่งเพลี้ยจะเป็นพาหะนำโรค พอเพลี้ยมาดูดกินน้ำเลี้ยงที่ใบมะละกอและจะปล่อยไวรัสลงไปทำลายท่อน้ำท่ออาหารของต้นมะละกอทำให้มะละกอเหี่ยว ใบหงิก เป็นจุดเป็นวงคล้ายวงแหวน และรากเน่าตายในที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเราก็แก้ปัญหากับต้นมะละกอที่ยังไม่ตายโดยการใช้เชื้อไตรโคเดอร์ม่า หมักกับกากน้ำตาลและใช้ภูไมท์ซัลเฟตละลายน้ำเหมือนกับวิธีที่ได้เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ราดตามโคนต้นมะละกอเพื่อหยุดการเข้าทำลายทางดินและใช้พลายแก้วที่หมักแล้วผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดทางใบและลำต้น เพื่อหยุดการทำลายของเชื้อทางใบ จากนั้นใช้ภูไมท์ซัลเฟตผสมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักขุดดินกลบตามบริเวณโคนต้น เพื่อสะสมไว้เป็นอาหารของมะละกอต่อไป หลังจากนั้นไม่นานมะละกอก็จะค่อยๆ ฟื้นตัวและสามารถที่จะให้ผลผลิตได้ตามเดิม

พี่อรรนพยังบอกอีกว่า การใช้สารเคมีในการรักษาโรคในพืชนั้น ใช่ว่าจะเป็นการทำลายเชื้อโรคไปได้เลยเสียทีเดียว แต่น่าจะเป็นการใช้สารในรูปของกรดเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคเพียงเท่านั้น เมื่อเกษตรกรเห็นว่าเชื้อไม่ระบาดแล้วก็มีความเชื่อว่าเชื้อโรคน่าจะตายหมดจากการใช้สารเคมี แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เลยเชื้อโรคแค่หยุดการเจริญเติบโตเท่านั้น และเมื่อสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ อากาศ ความชื้นที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตเชื้อก็จะกลับมาทำลายต้นพืชได้อีกเหมือนเดิมเพราะฉะนั้นทางที่ดีถ้าเราบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์อยู่เสมอพืชก็จะเจริญเติบโตดี มีภูมิต้านทานโรค เหมือนกับคำกล่าวที่ว่า ถ้าทำให้ดินมีชีวิตพืชก็จะแข็งแรงมีภูมิต้านทานโรค

สนใจเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเรื่องโรค หรือต้องการขอคำปรึกษาเรื่องโรคพืชและการปลูกพืชปลอดสารพิษ สามารถติดต่อ คุณอรรนพ ศรีรัตน์ ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 081-5521801

 

มนตรี  บุญจรัส

www.thaigreenagro.com