Archive for January, 2013

หมูราคาแพง เปลี่ยนมากินไก่กินเห็ด

January 24, 2013

ช่วงนี้มีข่าวการปรับราคาของหมูขึ้นมาเป็น 125 – 130 บาท จากเดิมที่ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 115 และราคาแนะนำของกระทรวงพาณิชย์กำหนดให้ขายได้ไม่เกินกิโลกรัมละ 114-120 บาท สาเหตุของการขึ้นราคา พ่อค้าหน้าเขียงแจ้งว่าเกษตรกรประสบกับภาวะต้นทุนที่ราคาอาหารเพิ่มขึ้นและใกล้ช่วงเทศกาลตรุษจีนจึงทำให้ราคาหมูมีราคาที่เพิ่มขึ้น แถมมีแนวโน้มว่าจะขึ้นอีกถึงกิโลกรัมละ 5-10 บาท อันนี้ประชาชนคนบริโภคทั่วไปก็ต้องพินิจพิจารณาหาทางเลือกไว้บ้าง เพื่อที่ว่าจะได้ไม่ต้องทนรับแบกความทุกข์จากสภาวะแวดล้อมรอบตัวที่เปลี่ยนแปลงขึ้นๆ ลงๆ อยู่ตลอดเวลา

หมูจัดเป็นอาหารที่อยู่ในหมวดของโปรตีนและไขมัน ถ้าพี่น้องสมาชิกและเกษตรกรสามารถที่จะเพาะเห็ดและเลี้ยงไก่ เพื่อได้ให้ได้ทั้งไข่และเนื้อสัตว์เพื่อทดแทนโปรตีนและไขมันก็จะไม่เดือดร้อนจากการที่หมูมีราคาที่สูงขึ้น และก็จะไม่เดือดร้อนจากการที่อาหารหมูแพงขึ้น โดยในส่วนของเกษตรกรถ้าอาหารหมูแพงขึ้นก็หันมาเพาะเห็ดและเลี้ยงไก่ เพาะเห็ดไม่ต้องใช้อาหาร ส่วนเลี้ยงไก่ถ้าอาหารยังแพงอยู่ด้วยก็อาจจะต้องปลูกข้าวเพื่อนำมาเป็นอาหาร และใช้กระถิ่น รำ หรือวัตถุดิบส่วนอื่นๆ นำมาทดแทนและผลิต ผสมขึ้นมาเองก็สามารถที่จะทำให้ครอบครัวของตนเองแข็งแรง ไม่ต้องคอยพึ่งพิงอิงเศรษฐกิจจากภายนอกอยู่ตลอดเวลา

เมื่อเกษตรกรผลิตอาหารได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และผู้บริโภคปรับตัวหันมากินในสิ่งที่ผู้ผลิตทำก็จะได้ทั้งอุปสงค์และอุปทานที่สมดุลกัน ภาคเกษตรและประชาชนคนไทยก็จะได้ไม่ต้องเดือดร้อนและพึ่งพิงอิงการผลิตจากภาคอุตสาหกรรมและนายทุนอยู่ร่ำไป ทำมาหากินโดยพึ่งพิงลำแข้งของตนเองเป็นหลัก เทคโนโลยีและนวัตกรรมอะไรที่ใหม่ๆ และดี ค่อยๆ นำมาปรับใช้ให้ตรงและเหมาะสมกับความต้องการของเรา เพียงเท่านี้ก็สามารถที่จะดำรงชีวิตปรับใช้ได้ในแนวเกษตรทฤษฎีใหม่หรือเกษตรพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพ่อหลวงของเราชาวไทยทุกคนได้ไม่ยาก

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

ชมพู่กับวิธีการดูแลรักษาโรคแมลง

January 24, 2013

ชมพู่ จัดเป็นพืชที่อยู่ในตระกูลเดียวกับหว้า ฝรั่ง ยูคาลิปตัส และเป็นพืชที่ชอบน้ำมาก มีพันธุ์ดั้งเดิมอยู่ 3 ชนิด คือชมพู่มะเหมี่ยว, ชมพู่สาแหรกและชมพู่น้ำดอกไม้ (จากพันธุ์ดั้งเดิมของชมพู่น้ำดอกไม้นี้เองกระมังจึงทำให้ชาวปักษ์ใต้เรียกชมพู่ว่าน้ำดอกไม้ในภาษาถิ่นมาจนถึงปัจจุบัน) หลังจากนั้นก็มีชมพู่พันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมาอีกมากมายหลายชนิด ทั้งชมพู่เพชรสายรุ้ง, ชมพู่เพชรสามพราน, ชมพู่เพชรน้ำผึ้ง,ชมพู่พันธุ์ทูลเกล้าและชมพู่ทับทิมจันทร์ ส่วนใหญ่จะปลูกกันมากในแถบนครปฐม ราชบุรี และสมุทรสาคร ส่วนในภาคอื่นๆก็ปลูกกันแบบประปรายเป็นผลไม้ประจำถิ่น การตลาดส่วนใหญ่ก็จะขายให้แก่ผู้บริโภคภายในประเทศเสียเป็นส่วนใหญ่ การส่งออกค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับมะม่วงและมังคุด
นอกจากชมพู่จะเป็นพืชที่ชอบน้ำมากๆแล้วในเรื่องของดินก็ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ในดินที่เป็นกรด-หรือด่างจัด มักจะเจริญเติบโตได้ดีในดินที่เป็นกรดอ่อนๆประมาณ 5.8 – 6.3 หรือแม้กระทั่งค่าพีเอชที่ขึ้นไปถึง 7 คือเป็นกลางก็ยังถือว่าไม่มีปัญหาหรือกระทบต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตมากนัก ปัญหาส่วนใหญ่ของชมพู่ก็คือเรื่องของหนอนและเพลี้ยแป้งที่เข้ามาทำลายใบและผล ส่วนในเรื่องของความชื้นแฉะทางดินก็มีให้เห็นอยู่บ้างแต่จัดว่าไม่มากเท่าใดนัก ปัญหาเรื่องเพลี้ยอ่อนเพลี้ยแป้งมักจะมากเกาะกลุ่มอยู่ที่บริเวณผิวใบอาจจะพบได้ทั้งด้านล่างและด้านบนสังเกตุเห็นเป็นลักษณะคล้ายแป้งฝุ่นสีขาวๆ(เพลี้ยแป้ง) และกลุ่มแมลงตัวเล็กๆกลมๆรีๆคล้ายไข่ของแมลงมาวางเอาไว้ต้องหมั่นสังเกตุให้ดีๆ มิฉะนั้นกลุ่มเพลี้ยเหล่านี้จะดูดกินน้ำเลี้ยงจนกิ่งใบเหี่ยวแห้งเลี้ยงไม่โต โดยเฉพาะต้นเล็กๆเริ่มปลูก

การดูแลป้องกันต้องหมั่นสังเกตุสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบการระบาดของเพลี้ยในระยะแรกๆให้รีบทำการรักษาป้องกันแบบปลายเหตุด้วยการใช้สารชีวภาพกำจัดเพลี้ยที่ชื่อว่าจุลินทรีย์ทริปโตฝาจ (บิวเวอร์เรียและเมธาไรเซียม) ในอัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ก่อนใส่ควรใช้สารจับใบ (ม้อยท์เจอร์แพล้นท์) หรือน้ำยาล้างจานเพื่อทำลายจุดแข็งของเพลี้ยที่มักฉีดพ่นไปแล้วไม่สามารถเกาะติดหรือสัมผัสกับตัวเพลี้ยได้เนื่องจากมีผงฝุ่นผงแป้งและคราบน้ำมันลื่นๆทำหน้าที่ปกป้องตัวของเพลี้ยทำให้การฉีดพ่นสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงก็ไม่สามารถกำจัดหรือรักษาได้โดยเฉพาะลักษณะการฉีดพ่นแบบเดินเร็วเดินไวฉีดเป็นเพียงละอองฝอยๆเพราะจะโดนหรือสัมผัสเฉพาะตัวแก่ที่อยู่ด้านบนส่วนตัวลูกๆที่อยู่ด้านล่างจะไม่ตาย ดังนั้นต้องฉีดให้เปียกชุ่มโชกเหมือนอาบน้ำหรือฝนตก แต่การใช้จุลินทรีย์ทริปโตฝาจจะช่วยให้การกำจัดมีประสิทธิภาพมากกว่าเพราะเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถเติบโตและขยายจำนวนได้ อีกทั้งยังปลอดภัยไร้สารพิษไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ปลอดภัยต่อผู้บริโภค
มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

สร้างภูมิต้านทานด้วยการใช้หินแร่ภูเขาไฟในพืชไม่ยาก?!?

January 24, 2013

พืชพันธุ์ธัญญาหารนานาชนิดท่ีผ่านการผลิตจากชาวไร่ชาวนาส่งผ่านพ่อค้ามาสู่ยังตลาดใหญ่ในเมือง ช่วยประเทืองประทังความหิวความต้องการแก่มนุษย์ทุกผู้ทุกนาม ในอดีตความต้องการดูแลเอาใจใส่ในเรื่องคุณภาพยังน้อย ผลผลิตจากหัวไร่ปลายนาที่ถูกป้อนถูกส่งมายังตลาดมีเท่าไรก็ขายได้หมดโดยมิได้คำนึงคะนึงคิดถึงเรื่องสารพิษที่ตกค้าง ผู้ผลิตก็เพียงแค่ปลูกให้ได้ผลผลิตออกมาให้ได้มากที่สุด. ไม่ว่าจะใช้ยาเคมีที่มีพิษรุนแรงตกค้างดูดซึมอย่างไรไม่ว่าหรือผลกระทบต่อการทำให้ชีวิตผู้ฉีดพ่นนั้นสั้นลง เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆแทรกซ้อนตามมาก็หาได้มีความสะทกสะท้าน เพราะด้วยหน้าที่ทางอาชีพและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จากข้องมูลและช่องทางการประชาสัมพันธ์ที่น้อยนิดจากทางภาครัฐในอดีต

ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มากขึ้นและข้อมูลข่าวสารต่างๆในหลายช่องทางที่ช่วยโหมกระพือกระตุ้นให้ประชาชนเกือบทุกภาคส่วนตื่นตัวในเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยด้านอาหาร ทำให้ส่งผลกระทบย้อนกลับไปยังแหล่งผลิตค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรหัวก้าวหน้าทั้งหลายจึงมีความตื่นตนสนใจในการที่จะผลิตพืชพันธ์ธัญญาหารในรูปแบบที่ปลอดภัยไร้สารพิษเพือ่ให้ผู้บริโภคได้มีทางเลือกในการจับจ่ายใช้สอย เกษตรกรกลุ่มนี้จะมีความสนใจรูปแบบการทำเกษตรแบบปลอดสารพิษหรือแม้กระทั่งการเกษตรในรูปแบบของอินทรีย์หรือออร์แกนิคในลำดับถัดไปในอนาคต อานิสงส์ผลพลอยได้จึงบังเกิดแก่ทั้งผู้ปลูกและผู้กินในลำดับถัดมาตามวัฏจักรแห่งห่วงโซ่อาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้มีแหล่งอาหารที่ปลอดภัยเข้ามาแชร์ยังตลาดอยู่บางส่วนแต่ถือว่ายังไม่มากเท่าที่ควร

วงการเกษตรในห้วงช่วงสิบกว่าปีมานี้มีผู้ที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับหินแร่ภูเขาไฟและแร่ธาตุซิลิคอนมากขึ้นเป็นลำดับ จากผู้ที่บุกเบิกส่งเสริมให้มีการใช้ในการเกษตรแรกๆโดยท่านอาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติและการประชุมสุมหัววิจัยอย่างต่อเนื่องของกลุ่มดอกเตอร์ทั่วโลกตั้งแต่ปี1999 จนถึงปัจจุบันมีตำราออกมาจำแนกแจกจ่ายทั่วโลกอยู่หลายเล่มอยู่ทั้งในโลกอนาล็อกและดิจิตอลสามารถติดต่อขวนขวายซื้อหาได้ตามศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วประเทศหรือในเว๊ปไซด์ http://www.amazon.com โดยอาจจะเริ่มต้นจากการค้นหาจากเว๊ปไซด์ของ http://www.google.com เสียก่อนก็ได้ ในหนังสือดังกล่าวจะมีข้อมูลในด้านการใช้หินแร่ภูเขาไฟหรือซิลิคอน, ซิลิก้าช่วยในการสร้างภูมิคุ้มกันหรือทำหน้าที่คล้ายๆสร้างวัคซีนให้แก่พืชในเบื้องต้นจนทำให้พืชมีผนังเซลล์ที่แข็งแรง แข็งแกร่งจนสามารถต่อยอดนำพามาซึ่งการใช้สารชีวภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ ในการป้องกันรักษาได้ง่ายโดยไม่ต้องหันกลับไปใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลงอีกต่อไป เกษตรกรหรือสมาชิกท่านใดสนใจหนังสือเกี่ยวกับหินแร่ภูเขาไฟภาคภาษาไทยแต่งโดยท่านอาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติติดต่อมาได้ที่เบอร์ 0-2986-1680-2
มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

ซีโอไลท์ก้อน หินลาวาแก้ปัญหาน้ำเสียให้แก่ปลาสวยงาม

January 24, 2013

วงการเลี้ยงปลาสวยงามไม่ว่าจะเป็นปลาคาร์พ ปลาหมอสี ปลาเงิน ปลาทอง ฯลฯ ที่มีการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ในบ่อดิน บ่อซิเมนต์หรือจะเป็นแบบตู้ปลาเลี้ยงโชว์ความสวยงามต่างก็จะต้องหมั่นดูแลทำความสะอาดกันอยู่เสมอ อีกทั้งยังต้องคอยดูแลน้ำมิให้มีสิ่งแปลกปลอมเน่าเสียจนเกิดกลิ่นหรือก๊าซต่างๆ เข้าทำลายสร้างความมึนงแก่เหล่าปลาอันเป็นที่รักจนเกิดความเครียด ไม่กินอาหาร และเกิดโรคภัยไข้เจ็บสร้างปัญหาตามมาในภายหลัง

การใช้ซีโอไลท์ก้อนในการนำไปรองพื้น หรือโปรยแทรกไปกับหินสวยงามในพื้นตู้หรือจะใช้ในการใช้เป็นหินกรองใส่ในฟิวเตอร์ก็ล้วนแต่ได้รับความสะดวกสะบายไม่ขุ่นฟุ้งกระจายจับตัวปลา เพราะเป็นหินลาวาที่ผ่านบดแยกไซด์ให้ได้ขนาดโดยเฉพาะมีทั้ง 3-5 มิลลิเมตรและขนาด 6-10 มิลลิเมตรซึ่งแตกต่างจากชนิดบดเป็นผงละเอียด หินซีโอไลท์ก้อนจะใช้งานง่ายและสะดวกกว่า เนื่องด้วยชนิดออกแบบมาให้ใช้กับชนิดของปลาสวยงามโดยเฉพาะ

หินลาวาซีโอไลท์ก้อนนี้มีคุณสมบัติเหมือนกับซีโอฟาร์ม, สเม็คโตไทต์และไคลน็อพติโลไลท์ทุกประการเพราะเป็นหินแร่ภูเขาไฟเหมือนกันทำหน้าที่ในการดูดซับจับกลิ่นเหม็นและก๊าซแอมโมเนียไนไตรท์, ก๊าซไฮโดรเย่นซัลไฟด์และมีเทนซึ่งล้วนเป็นก๊าซที่เป็นอันตรายต่อปลา ส่งผลทำให้ปลาตาบอด, เครียดไม่กินอาหารอีกทั้งถ้าปริมาณก๊าซเหล่านี้มีปริมาณมากจะทำให้ปลามีปัญหากับระบบขับถ่ายได้ การนำหินภูเขาไฟที่มีรูพรุน มีC.E.C. (ค่าความสามารถในการจับหรือแลกเปลี่ยนประจุบวกอีกทั้งยังสามารถปลดปล่อยแร่ธาตุสารอาหารออกมาเป็นประโยชน์ต่อปลาและระบบนิเวศน์ในบ่อและตู้ปลาได้ด้วยช่วยทำให้มีสัตว์หน้าดินและสร้างสีให้แก่ตัวปลาให้มีความสวยงามเพิ่มขึ้น

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

ฟักทองติดผลน้อย เพราะด้อยธาตุอาหารที่สำคัญ

January 24, 2013

ฟักทองนั้นเป็นพวกเดียวกันกับบวบ ฟัก แฟง ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของพืชตระกูลแตงเหมือนกัน เป็นที่นิยมอย่างมากในบ้านเรา รับประทานได้ทั้งผลอ่อนและผลแก่ เป็นได้ทั้งกับข้าวและขนมหวาน โดยเฉลี่ยฟักทองมีอายุตลอดการเก็บเกี่ยวก็จะอยู่ในระยะ 3-4 เดือน โดยจะเริ่มติดดอกออกผลเมื่อปลูกไปได้เพียงเดือนครึ่งถึงสองเดือน หลังจากนั้นก็จะใช้เวลาผสมเกสรอีกหนึ่งถึงสองสัปดาห์ และอีกประมาณอีกเดือนกว่าๆก็สามารถที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตไปจำหน่าย ส่วนขนาดและอายุที่ต้องการเก็บเกี่ยวนั้นก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดเพราะฟักทองสามารถขายได้ทั้งแบบผลอ่อนและผลแก่ ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเกษตรกรผู้ที่จะตกลงกับผู้รับซื้อกันอย่างไร

ช่วงระยะเวลาที่สำคัญของพืชตระกูลนี้ก็คือเรื่องการผสมเกสร เพราะการทำให้ติดดอกนั้นไม่ยากนักแต่ทำอย่างไรให้ฟักทองติดผลไม่น้อยกว่าปรกติเป็นเรื่องยากกว่า ซึ่งในกรณีนี้นั้นจำเป็นต้องพึ่งพิงพึ่งพาระบบนิเวศน์จากธรรมชาติค่อนข้างมาก ไม่ควรฉีดพ่นยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมทำให้สิ่งมีชีวิตในดินและธรรมชาติเสียหายล้มตายโดยเฉพาะผึ้ง ผีเสื้อและแมลงต่างๆ ที่ช่วยในเรื่องของการผสมเกสรแบบธรรมชาติโดยไม่ต้อนสิ้นเปลืองแรงงานที่นับวันยิ่งสูงขึ้นถึง 300 บาทต่อวัน ทำให้ต้นทุนภาคแรงงานโดยเฉพาะภาคเกษตรก็ต้องสูงตามไปด้วย ศักยภาพในการแข่งขันระดับอาเซียนก็จะน้อยลงจากต้นทุนสินค้าที่แพงขึ้น

นอกจากจะใช้แมลงในการผสมเกสรฟักทองแล้วในพื้นที่ปลูกขนาดเล็กแบบหัวไร่ปลายนาเกษตรกรสามารถใช้แรงงานคนนำดอกเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียผสมเกสรได้เช่นกันโดยโน้มดอกตัวผู้นำไปครอบหรือป้ายดอกเกสรตัวเมีย ในระยะที่ดอกอยู่ห่างกันก็ใช้วิธีการเด็ดและนำไปป้ายกับดอกตัวเมียหลายๆดอกก็สามารถทำได้เช่นกันขึ้นอยู่กับความสะดวกสบายของแต่ละท่าน ระยะเวลาที่เหมาะควรเป็นช่วงเช้าไม่เกิน 9.00 น. จะเป็นช่วงระยะเวลาที่ดีที่สุด นอกจากจะเทคนิคที่ทำให้การติดดอกของฟักทองดีแล้วควรต้องเพิ่มสารอาหารที่จำเป็นหรือสำคัญในระยะออกดอกด้วยนั่นคือแร่ธาตุสังกะสีที่ช่วงสร้างคลอโรฟิลล์สังเคราะห์แสงปรุงอาหารผลิตฮอร์โมนกลุ่มอ๊อกซินที่จำเป็นในระยะออกดอก

ช่วยทำให้ขั้วเหนียวแน่นไม่หลุดร่วง, โบรอนพืช ช่วยทำหน้าที่ขยายรังไข่ เมื่อรังไข่ใหญ่ ดอกก็ใหญ่และได้ผลที่ใหญ่ตามมา, วิตามินอีที่ทำหน้าที่ช่วยผสมเกสร ช่วยให้เกสรไม่เป็นหมันและซิลิสิค แอซิด ที่ทำหน้าที่ร่วมกับแคลเซียมส่งเสริมกันทำให้เซลล์แข็ง แบ่งตัวยืดตัวได้เร็วไม่แตกหักหรือเปราะง่าย รสชาติจะกรอบ อร่อย อายุการเก็บรักษานานขึ้น

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

ขี้เลื่อยรองพื้นบนดินแก้ปัญหากลิ่นเหม็นในเล้าหรือคอกสัตว์

January 24, 2013

ขี้เลื่อยในอดีตจัดเป็นวัสดุหาง่ายในท้องถิ่นพอๆกับแกลบ เพราะยังไม่มีผู้ที่จะนำไปดัดแปลงปรับปรุงประยุกต์ใช้กับวิชาสาขาอาชีพอื่นๆได้มากนัก จึงถือว่าเป็นวัสดุที่หาง่ายใช้คล่อง นำไปใช้ได้กับการเพาะเห็ด ปุ๋ยหมัก เชื้อเพลิง ฯลฯ ซึ่งก็นับว่ามีประโยชน์อยู่มากพอควร ในอดีตนั้นวงการเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะหมูหรือสุกรก็มีการเลี้ยงกันมากแถบจังหวัดราชบุรี, ฉะเชิงเทรา ปัญหาที่พบและสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชุมชนก็คือกลิ่นจากมูลหมูหรือสุกร สามารถส่งผลต่อระบบนิเวศน์ชุมชนได้ไกลหลายกิโลฯ ท่านอาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติจึงได้รณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ขี้เลื่อยนำมาปูพรมรองพื้นอีกชั้นหนึ่งเพื่อลดกลิ่นเหม็น ลดก๊าซแอมโมเนีย, ไฮโดรเย่นซัลไฟด์ ที่สร้างความมึนงงให้แก่สัตว์และมนุษย์รวมถึงตัวเจ้าของและเพื่อนบ้าน ก็นับว่าแก้ปัญหาไปได้มากโขอยู่ทีเดียว

ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นแกลบหรือขี้เลื่อยต่างก็หายากและมีราคาแพงด้วยกันทั้งคู่ เพราะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมายหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นวงการเพาะเห็ด วงการชีวมวล (Bio Mass) หรือวงการอัดแกลบและขี้เลื่อยทำเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ ส่งผลทำให้ภาคเกษตรขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตชนิดราคาย่อมเยาว์ให้ลดน้อยถอยลงไปอย่างมาก การทำการเกษตรในปัจจุบันจึงต้องมีต้นทุนที่สูงและผู้ผลิตยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นมาด้วย

ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีมากขึ้นจึงทำให้ค้นพบและขุดค้นวัสดุจากธรรมชาตินำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในวงการสาขาอาชีพอื่นๆได้มากขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์หินแร่ภูเขาไฟนั้นนับว่ามีประโยชน์อย่างสูงในภาคการเกษตร แทนที่จะเป็นดินถมถนนสร้างทางเพียงอย่าวเดียว ก็สามารถนำไปปรับปรุงดัดแปลงได้ในหลายวงการ ทั้งบ้านและสวน, หินประดับตกแต่ง, เครื่องสำอางค์และเกี่ยวกับภาคการเกษตรโดยเฉพาะในเรื่องการจับกลิ่นและของเสียในคอกสัตว์ เราสามารถใข้หินแร่ภูเขาไฟ ซีโอฟาร์ม (Zeo Farm) ช่วยจับกลิ่นลดกลิ่นเหม็นในคอกสัตว์ทดแทนแกลบและขี้เลื่อยได้โดยที่ยังมีคุณสมบัติในการจับกลิ่นสูงกว่าแกลบและขี้เลื่อย

ช่วยให้สัตว์หายใจสะดวก โล่งปลอดโปร่ง ปลอดภัยจากก๊าซพิษของเสียที่ทำให้สัตว์เครียดมึนงง น้ำตาไหล ระคายเคือง เยื่อบุตาอักเสบ ไม่กินอาหาร เกษตรท่านใดสนใจวิธีใช้หรือรายละเอียดเพิ่มเติมโทรมาที่ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ 0-2986-1680-2

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

เชื้อบีทีชีวภาพหมักไข่ใช้แก้ปัญหาหนอนชอนใบชอนกิ่ง

January 24, 2013

เชื้อบีทีชีวภาพปราบหนอนสำหรับสมาชิกหัวใจไร้สารพิษมือใหม่บางท่านอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก จึงอยากจะขออนุญาตท่านผู้อ่านเขียนแจ้งให้ทราบอีกครั้งว่า…เป็นชื่อของแบคทีเรียหรือบัคเตรีที่มีชือเต็มๆว่า บาซิลลัส ธูริงจิเอนสิส ( Bacillus Thuringiensis) มีคุณสมบัติในการปราบปราบป้องกันหนอนนานาชนิดตามสปีชีส์หรือสายพันธุ์ที่ผู้ผลิตจะคัดเลือกเก็บตัวอย่างมาพัฒนาให้ได้สายพันธุ์หรือมีคุณสมบัติตามต้องการและมีความนิ่งตามคุณสมบัติที่ยาวนานไม่ผิดเพี้ยนผันแปรไปจากหัวเชื้อมาสเตอร์ ความยากในการผลิตจึงมีลักษณะคล้ายๆการคัดเลือกไก่ชนซึ่งต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจและชำนาญโดยเฉพาะ เปรียบดังเช่นคัดพ่อแม่พันธุ์ไก่ชนที่ต้องการแล้วนำมาผสมพันธุ์เมื่อออกไข่ขยายพันธุ์ก็สามารถที่จะทราบและคัดเลือกตัวที่เก่งได้ในขณะที่ยังเป็นลูกเจี๊ยบเลยก็ว่าได้ จึงจะมีความสามารถที่จะผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้อย่างยาวนาน มิฉะนั้นถ้าใช้หัวเชื้อเพียงมาสเตอร์เดียวแต่นำมาใช้หลายรุ่นหลายเจนเนอร์เรชั่นก็จะทำให้เชื้ออ่อนแอขาดประสิทธิภาพ นำไปใช้ไม่ได้ผล หนอนไม่ตาย

ส่วนการใช้เชื้อบีทีชีวภาพปราบหนอนนั้นโดยปรกติจะใช้วิธีการหมักขยายเชื้อเพื่อเป็นการลดต้นทุน ก็มีให้เลือกอยู่มากมายหลายสูตรพอสมควร โดยได้คัดเลือกมาจากการทดลองวิจัยในหลายร้อยสูตรจากนิสิตนักศึกษาภาควิชาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยการควบคุมดูแลของท่านอาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติจนได้สูตรที่เหมาะสมกับเกษตรกรในแต่ละท้องถิ่น เช่นภาคใต้มีมะพร้าวอยู่เยอะก็ใช้สูตรที่หมักด้วยมะพร้าว ภาคอีสานมะพร้าวแพงก็ใช้สูตรนมยูเฮชที, นมพาสเจอร์ไรส์ ผู้ที่อยู่ใกล้ตัวเมืองหรือมีพื้นที่จำนวนมากก็สามารถใช้สูตรไข่ไก่ให้อ๊อกซิเย่นแบบตู้ปลาเพราะสามารถหาซื้อไดง่าย หรือสูตรมะพร้าวแก่จากผุ้ที่อยุ่ใกล้ตลาดสด, สูตรนมข้นหวาน, สูตรนมผงเด็กสำหรับคุณพ่อคุณแม่ลูกอ่อน ซึ่งเกษตรกรสามารถเลือกที่จะศึกษาและทดสอบหาสูตรที่เหมาะสมกับตัวเองได้ไม่ยาก หรือสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อยหรือใช้ในพื้นที่ไม่มากก็สามารถใช้เชื้อบีทีชีวภาพได้เลยทันทีแบบไม่ต้องหมักขยายในอัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทำการฉีดพ่นเหมือนกันทุกประการกับสูตรที่หมักขยาย

สำหรับสูตรที่เป็นที่ติดอกติดใจของเกษตรกรที่พบปัญหาหนอนชอนกิ่ง ชอนต้น เจาะผลก็คือสูตรที่หมักด้วยไข่ไก่ 5 ฟอง ตอกใส่ในน้ำ 20 ลิตร ใส่มะพร้าวอ่อนลงไป 1 หรือ 2 ผล น้ำมันพืช 5 ช้อนแกง ม้อนท์โมริลโลไนท์หรือสเม็คไทต์ 5 ช้อนแกง อัดอากาศให้ออกซิเจนด้วยหัวทรายแบบตู้ปลาสวยงามเพียง 24 – 48 ชั่วโมง แล้วนำไปเติมในน้ำเปล่าอีก 80 ลิตรรวมเป็น 100 ลิตร นำไปฉีดพ่นช่วงเย็นแดดอ่อน เมื่อตกเวลากลางคืนกลิ่นหมักของมะพร้าวกับไข่จะช่วยดึงดูดให้หนอนออกมากินเชื้อบีทีชีวภาพมากขึ้นทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการตายของหนอนก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย. หรือจะนำเชื้อบีทีชีวภาพที่ได้จากการหมักขยายแล้วนำไปฉีดอัดใส่รูของหนอนที่ชอนตามกิ่งหรือต้นหลังจากนั้นใช้ดินเหนียวแปะหรืออุดปากรูเพื่อให้เชื้อบีทีทำงานได้อย่างเต็มที่ก็สามารถแก้ปัญหาเรื่องหนอนชอนได้ไม่ยาก เกษตรกรที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อสอบถามมาได้ที่ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ 0-2986-1680-2 หรือเว็บไซด์ http://www.thaigreenagro.com
มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

พืชกระทบหนาว ช่อไหม้ ใบเหลือง สิ้นเปลืองปุ๋ย

January 24, 2013

อากาศบ้านเราช่วงนี้ถ้าเป็นอดีตก็ต้องถือว่ายังอยู่ในฤดูกาลของความหนาว ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะไม่เด่นชัดเท่ากับครั้งเก่าก่อนแต่ก็ถือว่ายังพอมีสัญญาณสัญลักษณ์หลายๆอย่างยังคงอยู่ซึ่งสามารถส่งผลกับสิ่งมีชีวิตทั้งพืช สัตว์และมนุษย์อยู่มากพอควรโดยเฉพาะที่ส่งผลกระทบกับพืชในลักษณะที่ทำให้พืชมีลักษณะการเจริญเติบโตที่ชะลอลง ช่อดอกกลีบใบไหม้ดำ บางครั้งก็ชะงักงันเหลืองซีดไม่กินปุ๋ย ส่งผลให้เกษตรกรต้องรีบป้องกันแก้ไขให้ปุ๋ยเพิ่มยาเพื่อหลีกหนีปัญหาที่จะนำพามาซึ่งผลผลิตลดน้อยถอยลงจากผลกระทบจากอาการดังกล่าว

ผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะต่างๆ นั้นมีมากมายหลายแบบ แต่ถ้าเป็นฤดูหนาวก็จะชัดเจนในเรื่องของเชื้อราที่มากับหมอกและน้ำค้าง ซึ่งมักจะพบกับปัญหาช่อดอกยอดใบดำเพราะถูกการโจมตีของเชื้อรา สปอร์ของเชื้อราโรคพืชมากมายที่ปลิวละล่องอยู่ในอากาศเมื่อความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศมีมากขึ้นทำให้น้ำหนักของสปอร์หน่วงหนักตกลงมาสู่ตามบริเวณส่วนต่างๆของพืช และเมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมมีแหล่งอาหารแหล่งน้ำจากพืชก็งอกเส้นใยเจริญเติบโตและเข้าทำลายย่อยสลายวัตถุที่เขาได้หล่นร่วงลงไปจนเป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนไปในรูปแบบต่างๆเมื่อเกษตรกรได้พบเห็นหลังจากที่ผลของการทำลายของเชื้อราโรคพืชได้กระทำแล้วทั้งในรูปแบบใบดำ ใบไหม้ ใบเหลือง ฯลฯ

การป้องกันแก้ไขแบบง่ายเมื่อพบว่ามีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศมากคือมีทั้งน้ำค้างและหมอกให้รีบทำการฉีดพ่นล้างใบทำลายสปอร์ในหลุดร่วงออกไปจากพื้นที่ผิวใบหรือช่อดอกด้วยการใช้น้ำเปล่าฉีดพ่น (ในกรณีที่ปลูกแบบมือสมีครเล่นหรือพื้นที่น้อย). ในส่วนที่ปลูกเป็นอาชีพพื้นที่มากกลัวไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงหรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้นให้ใช้ ฟังก์กัสเคลียร์ (ผงจุลสี, แคลเซียม, ซิลิสิค, แมงกานีส ฯลฯ) 2 กรัมร่วมกับ แซนโธนไนท์ (สารสกัดจากเปลือกมังคุด) 2 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตรฉีดพ่นเพื่อล้างใบและทำลายสปอร์ไปด้วย สารสกัดจากผลจุลสี, แคลเซียม, ซิลิสิค (ซิลิก้า,ซิลิคอน) และสารฝาดแซนโธนนินจากเปลือกมังคุดจะช่วยยับยั้งและทำลายเชื้อราโรคพืชในระยะสปอร์ให้ลดลงได้อย่างมาก จากนั้นจึงค่อยใช้ไตรโคเดอร์ม่า (ชนิดละเอียด)หรือบีเอสพลายแก้วมาฉีดพ่นเพื่อทำการรักษาอีกครั้งหนึ่งเมื่อยังคงพบเห็นการรุกลามระบาดของเชื้อราต่อไป

ในกรณีที่พืชกระทบหนาวและเกิดอาการใบเหลืองให้ทำการสังเกตุให้ดีเสียก่อนที่จะรีบเติมปุ๋ยยูเรีย, แอมโมเนียมซัลเฟตหรือแคลเซียมไนเตรท เพราะบางทีพืชอาจจะไม่ได้เหลืองจากการขาดปุ๋ยไนโตรเจนก็ได้ แต่เกิดจากสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็นและไม่สามารถที่จะสร้างกระบวนการเมตาบอลิซึมได้อย่างสมบูรณ์จึงทำให้เกิดอาการใบเหลืองยอดสั้น อั้นการเจริญเติบโตควรแก้ไขด้วยการทำให้พืชมีการปรับอุณภูมิภายในเซลล์ให้สมดุลย์ด้วยการฉีดพ่นไรซ์กรีนพลัส และไวตาไลเซอร์เสียก่อนหลังจากนั้นเมื่อพืชปรับสภาพให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมได้แล้วค่อยมาพิจารณาเรื่องปุ๋ยในภายหลังว่าใส่เพิ่มเติมลงไปอย่างสมบูรณ์เพียงพอหรือไม่
มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

อนุสาวรีย์ส้ม มะนาว เมื่อคราวใช้คอปเปอร์ปราบโรคแคงเกอร์

January 24, 2013

สารคอปเปอร์หรือสารประกอบทองแดงที่ทำหน้าที่ในการปราบเชื้อราโรคพืชและโรคแคงเกอร์ในมะนาวนั้น ถึงแม้ว่าในระยะสั้นจะดูว่าช่วยเกษตรกรแก้ปัญหาเรื่องโรคแคงเกอร์ได้ผลอยู่บ้างแต่ในระยะยาวกลับไม่ใช่ เพราะสารพิษจากคอปเปอร์ที่สะสมตกค้างจะกลับมาทำลายระบบนิเวศน์ระบบรากของมะนาวและส้มในภายหลังทำให้ค่อยๆอ่อนแอและตายลงไปทีละน้อย สังเกตุวงจรวัฏจักรจากแหล่งปลูกส้มในอดีตก็จะทราบว่าการใช้สารคอปเปอร์และสารเคมีที่เป็นพิษนั้นทำให้อายุของต้นส้ม มะนาว และสภาพแวดล้อมของพื้นที่ปลูกสั้นลง ดูได้จากบางมด ไปรังสิต นครสวรรค์ ยันกำแพงเพชร พี่น้องสมาชิกชมรมฯ สามารถจะขับรถวนผ่านเวียนชมดูได้โดยเฉพาะแถวรังสิตยังพอจะมีเค้ารางของร่องสวนส้มเก่าร้างให้เห็นอยู่บ้างเป็นอนุสรณ์เตือนใจให้ผู้ที่ยังฝักใฝ่สารเคมีหรือสารพิษอยู่

หลายๆภาคส่วนทั้งเอกชนและรัฐบาลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานส่งเสริมเกษตรแต่ข้อมูลหรือคู่มือเอกสารการทำเกษตรส่วนใหญ่ยังคงมีสปอนเซอร์และโฆษณายี่ห้อสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เป็นพิษอยู่มากมาย แม้กระทั่งในสถานที่ราชการในเมืองใหญ่ๆหลายที่ก็ยังมีปฏิทิน นาฬิกา ตู้เย็น พัดลม แอร์จากบริษัทยาเคมียักษ์ใหญ่ระดับโลกมีติดแปะข้างฝาอยู่เยอะแยะมากมาย เป็นผลให้เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้านการทำเกษตรแบบใช้สารพิษอยู่ร่ำไป โดยหารู้ไม่ว่าวิธีการต่างๆเหล่านั้นในอนาคตจะเป็นเทคโนโลยีและวิธีการที่ล้าสมัย เพราะคนทั่วไปและผู้บริโภคไม่ยอมรับ

แต่ถ้าเริ่มสนใจใส่ใจกับธรรมชาติอย่างแท้จริงก็จะทราบว่าการทำการเกษตรแบบปลอดภัยไร้สารพิษนั้นทำได้ไม่ยากเพียงแต่ต้องรู้จักรักษาคุณค่าของดิน น้ำ อากาศ แสงแดดให้มีความบริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่คู่กับโลกของเราไปได้อย่างยาวนาน อย่าให้มีสิ่งแปลกปลอม สารพิษปนเปื้อนเจือจานลงไปเพิ่มขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ อย่าเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศ อย่าปล่อยทิ้งสารพิษลงไปในน้ำและดิน ปล่อยให้สายน้ำตามลำธารผู้คนยังดื่มอาบกินได้ น้ำฝนจากฟ้าหล่นใส่หลังคาก็สามารถที่จะรองรับนำกลับมากินดื่มได้ดังเช่นในอดีต เมื่อทุกคนช่วยกันรักษาและทำความสะอาดธรรมชาติเพียงเท่านี้การเกษตรแบบปลอดสารพิษและเกษตรอินทรีย์ก็ทำได้ไม่ยากครับ นี่คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการใช้สารพิษในการทำเกษตรเราก็จะต้องอพยพย้ายพื้นที่ปลูกและทิ้งซากหักปรักพังของสวนเก่าที่เจ๊งไม่เป็นท่าจากต้นทุนที่สูงการไร้ซึ่งประสิทธิภาพในระยะยาว

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com