Archive for the ‘ไม้ดอกไม้ประดับ’ Category

รากขัดสมาธิ รากไม่เดิน ต้นไม่โต กิ่งไม่แตกเพราะดินแน่น

August 26, 2013

ปัญหาของพืชที่มีอาการแคระแกร็นชะงัก ใบเล็กเรียว ซีดจาง สาเหตุส่วนหนึ่งคือปัญหาเรื่องระบบรากที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายถ่ายเทออกไปอาหารได้ในระยะไกล มักจะติดขัดขดแน่นขัดสมาธิอยู่ในหลุมเป็นก้อนกลมอยู่กับที่ โดยเฉพาะไม้กระถางที่ขาดการบำรุงดูแลเอาใจใส่ ไร้ซึ่งการเปลี่ยนดินเมื่อดึงออกมาจะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน เนื่องด้วยดินที่ขาดแคลนอินทรีย์วัตถุ นั้นจะทำให้ดินทรุดตัวทับถมกันจนแน่นแข็งเป็นดาน แน่นมากเสียจนรากพืชไม่สามารถที่จะทะลุทะลวงพ้นผ่านเจริญเติบโตออกไปหาอาหารเองได้ เมื่อรากไม่สามารถหาอาหารได้เป็นปรกติ ก็ส่งผลทำให้หาอาหารได้อย่างจำกัด เมื่อดูดกินอาหารในที่เดิมซ้ำๆ อยู่ตลอดเวลาสารอาหารที่มีอยู่เดิมก็ค่อยๆลดน้อยถอยลงไปเป็นธรรมดาตามหลักของธรรมชาติ ส่งผลทำให้พืชขาดแคลนสารอาหารปลีกย่อยที่จำเป็นและขาดไม่ได้ จึงส่งผลให้เกิดอาการใบซีด ใบเหลือง ใบลาย จากการขาดแคลนธาตุอาหารจุลธาตุ ในกรณีที่ผู้ปลูกไม่มีการเติมธาตุอาหารหลักเพิ่มเข้าไปด้วย ยิ่งทำให้ปัญหาหนักเพิ่มขึ้นไปอีก คือขาดแคลนทั้งธาตุอาหารหลัก รอง และเสริมไปด้วย

การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแบบเร่งด่วน ควรทำการแก้ไขด้วยสารละลายดินดาน ALS29 ซึ่งประกอบด้วยแอมโมเนียม รอเลธ ซัลเฟต ซึ่งทั้งแอมโมเนียและซัลเฟตเมื่อสะสมตกค้างอยู่ในดินก็จะค่อยปลดปล่อยตัวเองให้ย่อยสลายกลายปุ๋ยไนโตรเจนและซัลเฟอร์ (กำมะถัน) ซึ่งเป็นอาหารของพืช ไม่มีสารพิษตกค้างและเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในดิน การใช้สารละลายดินดาน ALS29 ในอัตรา 20-30 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ราดรดลงไปบนพื้นที่ที่มีปัญหาดินแน่นแข็งเพียง 2 – 3 ครั้งจะช่วยทำให้ดินค่อยๆคลายตัวเกาะกันอย่างหลวม ทำให้น้ำซึมซาบระบายถ่ายเทได้ดี ไม่ท่วมขังชื้นแฉะมากเกินไปจนก่อให้เกิดปัญหารากเน่าโคนเน่าตามมาอีกในภายหลัง

การจะใช้สารละลายดินดาน ALS29 ให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ควรจะต้องทำให้ดินเปียกชุ่มชื้นเสียก่อน โดยเฉพาะหลังฝนตกใหม่ๆ จะเป็นการดีอย่างมากเหมาะสำหรับการฉีดพ่นสารละลายดินดาน ALS29 ลงไป เพราะจะเป็นตัวช่วยนำพาสารต่างๆ เหล่านี้ซึมซาบลงไปในดินชั้นที่มีปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ทำให้การสลายชั้นดินดานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความรวดเร็ว อย่างไรก็ตามการใช้สารละลายดินดาน ALS29 ยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอยู่ เพราะหลังจากที่ดินโปร่งร่วนซุยจนรากสามารถที่จะขยายตัวหาอาหารได้มากขึ้นแล้ว แต่ถ้ายังไม่มีการปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรีย์วัตถุ หรือกลุ่มของหินแร่ภูเขาไฟลงไปช่วยเสริม ดินก็จะกลับมาแน่นแข็งเหมือนเดิมได้อีก ฉะนั้นจึงควรหมั่นเติมอินทรียวัตถุลงไปให้เพียงพอ จึงเป็นการแก้ปัญหาแบบถาวรในการที่จะทำให้ดินโปร่งร่วนซุยโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากเกินควร

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreeangro.com

ปัญหาของไม้กระถาง

August 26, 2013

การปลูกพืชในปัจจุบันของประเทศไทยนั้น นับว่ามีความก้าวหน้าค่อนข้างมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก น้องๆ ประเทศไต้หวัน ไม่ว่ามหาวิทยาลัยใดๆ ในโลกต่างก็ให้ความสนใจเข้ามาศึกษาดูงาน ทั้งอินเดีย ยุโรป อเมริกา และโดยกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนใกล้เคียงไม่ต้องพูดถึง แทบจะใช้ไทยเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการเลยด้วยซ้ำ (ยกเว้นการเมืองนะครับ) ที่พูดแบบนี้ก็เพราะว่า รูปแบบการปลูกพืชของบ้านเรานั้นจะเห็นได้ว่ามีหลากหลายรูปแบบ ทั้งใต้ดิน (under soil) บนดิน (up soil) บนอากาศ (air roots) ในน้ำ(Hydroponics) ไร้ดิน (soilless) ในภาชนะปลูก (container soil) โดยเฉพาะอย่างหลังสุดนี้คือวิธีการปลูกที่จะนำมาพูดถึงในวันนี้ คือก่ารปลูกพืชไม้ในภาชนะปลูกหรือไม้กระถาง ในบ้านเรานั้นก็มีหลากหลาย ทั้งไม้กระถางที่สวยงามหรือจะใช้ภาชนะเหลือใช้อย่างถ้วย ถัง กะละมัง หม้อ ที่ชำรุด แตกหัก เสีย หาย ก็นำมาใช้เป็นภาชนะปลูกได้ทั้งนั้น

ถือว่าเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างคุ้มค่าทั้งในรูปแบบ รียูส (Reused) และรีไซเคิล (recycle แถมยังดูมีความเก๋ เท่ห์ แปลกตา เคลื่อนย้ายไปตามจุดต่างๆ ได้ตามความต้องการ จึงมีผู้นิยมปลูกไม้กระถางประดับประดาบ้านเรือนให้สวยงามอยู่มากมาย แต่ปัญหาของการปลูกไม้กระถางคือการที่ต้องหมั่นเติมแร่ธาตุสารอาหารให้พืชอยู่ตลอดเวลา เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่มักจะใช้เวลาอยู่กับเหย้าเฝ้าเรือนเป็นส่วนใหญ่ แถมต้องมีรสนิยมชมชอบต้นไม้เป็นพิเศษอีกด้วยเพราะต้องมีเวลาหมั่นดูแลบำรุงรักษา สังเกตอาการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ว่าพืชจะขาดน้ำ ขาดปุ๋ย เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที

ปัญหาของไม้กระถางส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องการเปลี่ยนดิน การเติมปุ๋ย น้ำ เพราะรากพืชไม่สามารถหาอาหารได้จากพื้นดินธรรมชาติได้ ต้องคอยรับจากการป้อน การเติมจากเจ้าของผู้ปลูกอยู่ตลอดเวลา (อาจจะสัปดาห์ละครั้ง เดือนละครั้ง ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินในกระถาง) การที่ไม้กระถางจะต้องเปลี่ยนดินอยู่บ่อยๆ นั้น เพราะเมื่อรดน้ำลงไปในกระถาง น้ำก็จะพัดพาเอาอินทรียวัตถุ (organic matter) ที่อยู่ภายในไหลออกไปข้างนอกอยู่ตลอดเวลา อินทรียวัตถุเมื่อรวมตัวอยู่กับดิน ก็จะช่วยทำให้โครงสร้างดิน โปร่ง ร่วน ซุย เป็นอาหารของจุลินทรีย์นานาชนิด เมื่อถูกชะล้างไปก็ทำให้โครงสร้างดินแน่นแข็ง จุลืนทรีย์ดีมีประโยชน์ก็ลดน้อยถอยลง ทำให้พืชอ่อนแอได้ง่าย เพราะฉะนั้นเกษตรกรจะต้องหมั่นเติมอินทรีย์วัตถุลงไปอย่างสม่ำเสมอ หรือไม่ก็ต้องใช้กาบมะพร้าววางทาบขัดรูก้นกระถางเพื่อให้เกิดการชะล้างอินทรีย์วัตถุออกไปได้ยาก การใช้หินแร่ภูเขา พูมิชซัลเฟอร์ (Pumish Sulpher) คลุกผสมกับดิน ร่วมกับ โพแทสเซียมฮิวเมท (Humic acid) ในอัตรา 2 : 0.5 : 10 (พูมิชซัลเฟอร์ : โพแทสเซียมฮิวเมท : ดิน) จะช่วยทำให้ดินเหมาะสมต่อการปลูกไม้กระถางเป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้การแน่นแข็งเกิดขึ้นได้ยากขึ้น จากคุณสมบัติของหินแร่ภูเขาไฟที่มีความโปร่งพรุน และกลุ่มอินทรียวัตถุที่อยู่ในรูปฮิวมัส ฮิวมิค ซึ่งพร้อมต่อการเจริญเติบโตของพืชและช่วยให้โครงสร้างดินไม่ขาดอินทรียวัตถุ ในระยะยาวไม่ต้องเปลี่ยนดินบ่อย พืชแข็งแรงจากซิลิก้า ได้รับแร่ธาตุสารอาหารที่ครบถ้วน พืชเขียวนาน เขียวทน

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

สารละลายดินดาน  ALS29 แก้ปัญหาดินแน่นแข็งในไม้กระถางไม่ต้องเปลี่ยนดินบ่อย

July 12, 2012

ไม้ดอกประประดับที่ส่วนใหญ่จะปลูกใส่ไว้ในกระถางด้วยเหตุผลนานาประการตามความพึงพอใจของแต่ละบุคคล และส่วนหนึ่งของเหตุผลก็น่าจะมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสะดวกสบายในเรื่องการขนย้ายไปตามจุดหรือสถานที่ต่างๆที่ต้องการ ความต้องการโชว์ลวดลาย คุณภาพและราคาของกระถาง การจัดการเกี่ยวกับเรื่องดินและปุ๋ยที่ต้องการให้อยู่ในรัศมีของรากไม่ต้องการให้เล็ดลอดสูญเสียไปกับพืชชนิดอื่นๆเป็นต้น

การที่ดินอยู่ในพื้นที่จำกัดคืออยู่ในกระถางทำให้รากพืชมีข้อจำกัดในการดูดกินสารอาหารไม่สามารถที่จะเลื้อยออกไปหาอาหารข้างนอกได้จึงต้องหมั่นเติมปุ๋ยให้แก่ไม้ดอกไม้ประดับเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอเพราะปุ๋ยที่ใส่ไว้จะถูกดูดกินสูญเสียไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งการรดน้ำเป็นประจำทุกวันจะชะล้างนำพาเอาสารอาหาร อินทรีย์วัตถุรั่วไหลติดไปกับน้ำด้วย จึงทำให้โครงสร้างของดินมีอินทรีย์วัตถุน้อย ดินจะแน่นแข็งขึ้นเพราะขาดการเข้ามาทำกิจกรรมของจุลินทรีย์เนื่องด้วยไม่มีแหล่งอาหารที่เพียงพอ จึงทำให้เซียนไม้กระถางโดยทั่วไปมักจะต้องเสียเวลากับขั้นตอนการเปลี่ยนดินอยู่เป็นประจำเพื่อให้พืชมีการเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์สวยงาม

ปัญหาดินแน่นแข็งดังกล่าวนี้สามารถที่จะแก้ปัญหาแบบเร่งด่วนได้โดยใช้สารละลายดินดานALS29 ในอัตรา 30 ซี.ซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร ทำการราดรดทุกหนึ่งสัปดาห์จนดินเริ่มร่วนซุยได้ตามที่ต้องการจึงค่อยหยุด. สารละลายดินดาน มีชื่อสามัญว่า แอมโมเนียมลอเรทซัลเฟต (Ammonium Laureth Surfate) มีคุณสมบัติช่วยลดแรงตึงผิวของน้ำ ทำให้น้ำสามารถแทรกซึมลงไปตามช่องว่างระหว่างเม็ดดินได้ลึก นอกจากนี้ยังช่วยทำให้เม็ดดินที่เกาะกันแน่นแยกตัวออกจากกัน ดินที่เคยแน่นแข็งเป็นดินดานจะกลายเป็นดินร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี ดินเก็บน้ำได้ดีขึ้น การที่ดินซึมซับน้ำได้ดีนั้นยังทำให้ยังช่วยลดการสูญเสียแร่ธาตุอาหารในดิน ที่เกิดจากการชะล้างของน้ำบริเวณหน้าผิวดินได้ดีอีกด้วย ทำให้ดินชุ่มชื้นได้แม้จะเป็นหน้าแล้ง ทำให้รากพืชหยั่งรากขยายได้ 

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

ปลูกมะลิให้มีดอกสวย ด้วยหินแร่ภูเขาไฟ

July 11, 2012

ดอกมะลิ ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ของวันแม่ บุตรหลานที่ได้มีโอกาสได้แสดงความกตัญญูรู้คุณก็จะซื้อนำไปกราบไหว้พ่อแม่อันเป็นที่เคารพบูชาของทุกคน นอกจากจะขายดีในช่วงเทศกาลวันแม่แล้ว มะลิยังใช้เป็นส่วนประกอบหลักในการร้อยพวงมาลัยขายตามสี่แยกไฟแดง บางครั้งก็มีราคาแพงเสียจนแม่ค้าที่รับจ้างร้อยพวงมาลัยต้องใช้ดอกไม้อื่นๆมาทดแทนทั้งดอกพลาสติก ดอกดาวเรือง ฯลฯ โดยปกติมะลิมีปลูกกันอยู่ทั่วไปทุกภูมิภาค แต่จะมีมากที่ปลูกเป็นการค้าคือจังหวัดนครปฐม และที่นครสวรรค์ (อำเภอบรรพตพิสัย) นอกนั้นก็ปลูกกันประปรายไปตามกำลังความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละท้องถิ่นมากบ้างน้อยบ้าง
ดินที่เหมาะสมต่อการปลูกมะลิคือจะต้องมีสภาพที่ไม่กรดหรือด่างจัดจนเกินไป เพราะมิฉะนั้นจะทำให้มะลิแคระแกร็น อ่อนแอต่อการเข้าทำลายของโรค หนอนและแมลง ดินที่ไม่ดีจะส่งผลทำให้ดอกมีขนาดเล็ก ใบแคบ ดอกออกมามีกลีบน้อย ไม่สมบูรณ์ ดอกที่ออกมาก็มักจะมีหนอนเจาะดอก ใบเป็นโรคราสนิม ผลผลิตที่ได้จะน้อยกว่าปรกติ เพราะขาดการสะสมอาหารที่เพียงพอ
คุณสามารถ นาดทั่ง เลขที่ 124/19 หมู่ 4 ตำบล สวนพริกไทย อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี 12000 โทรศัพท์ 081-984-2128 ปลูกมะลิอยู่ 50 ไร่ ได้ใช้หินแร่ภูเขาไฟ (ภูไมท์ซัลเฟต, พูมิลซัลเฟอร์) ช่วยในการปรับปรุงบำรุงดินในระยะแรกเพื่อต้านทานต่อสภาพดินที่เป็นกรดหรือเปรี้ยวจัด โดยนำไปผสมกับปุ๋ยเคมีในอัตรา พูมิซซัลเฟอร์ 50 กระสอบ ต่อปุ๋ยเคมี 6 กระสอบ หว่านลงในพื้นที่ 50 ไร่ หลังจากปลูกไปสักระยะปรากฏว่าสภาพดินจากที่เป็นกรด ปลูกพืชชนิดต่างๆมีการเจริญเติบโตไม่ดี แต่หลังจากใส่พูมิชซัลเฟอร์ปรากฏว่าช่วยให้ต้นมะลิมีสภาพทนต่อความเป็นกรด มีการเจริญเติบโตแตกตาต่อยอดได้ดี

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

ลีลาวดี กับวิธีแก้ราสนิม

June 22, 2012

ต้น “ลีลาวดี” พอถูกเปลี่ยนชื่อจาก “ลั่นทม” ก็เกิดความนิยมชมชอบอย่างแพร่หลาย มีการนำไปปลูกประดับตกแต่งตามอาคารบ้านเรือนมากมายหลายสายพันธุ์ซึ่งในอดีตจะพบเห็นได้เฉพาะตามวัดวาอารามและสถานที่ราชการเท่านั้น เนื่องด้วยแต่ก่อนมีชื่อที่ฟังดูไม่ค่อยเป็นมงคลมากนักจึงไม่เป็นที่นิยมปลูก หลังจากเปลี่ยนชื่อใหม่เหตุการณ์ผันไปได้รับความนิยมมากขึ้นตามลำดับตามที่เราได้รับรู้รับทราบในปัจจุบัน ต้นลีลาวดีนี้มีหลากหลายชื่อและเชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศลาว มีทั้งชื่อ ลั่นทม, ลีลาวดี, จำปา,  จำปาลาวและจำปาขอม

ที่มีชื่อจำปาขอมด้วยก็เพราะมีตำนานที่ไปเกี่ยวข้องกับประเทศเขมร  ซึ่งในอดีตคนไทยเราไปตีเขมร เมืองนครธมและได้นำต้นไม้ชนิดนี้กลับมาด้วยและตั้งชื่อเป็นที่ระลึก “ลั่นทม”สือความหมายว่าไปตีเมืองนครธม (ลั่น” แปลว่า ตี เช่น ลั่นฆ้อง ลั่นกลอง “ธม” หมายถึง “นครธม” ภายหลัง “ลั่นธม” เพี้ยนเป็น “ลั่นทม”) รายละเอียดเพิ่มเติมอีกมากมายท่านผู้อ่านสามารถเข้าไปค้นคว้าหาอ่านได้ที่ วิกิพิเดียกันเอาเองนะครับ

ต้นลีลาวดีนั้นปัญหาที่พบบ่อยคือเรื่องราสนิมมักเกิดขึ้นที่ใบ มีลักษณะเป็นสีเหลืองออกสนิมเป็นปุยผงละเอียด สามารถล่องลอยไปกับสายลมโดยง่ายเมื่อพบเห็นเพียงเล็กน้อย ควรรีบเด็ดใบกิ่งก้านนั้นทิ้งโดยเร็ว มิฉะนั้นจะลุกลามระบาดได้ง่ายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ฝุ่นผงละเอียดสีเหลืองที่อยู่เกาะอยู่ที่ผิวใบเป็นหย่อมๆนั้น แท้จริงแล้วคือสปอร์ที่มีเจริญเติบโตของเชื้อราชนิดนั้นหลายวงจรหลายรอบตั้งแต่เริ่มมีการระบาด ในระยะนี้จะรักษายากเพราะสปอร์จะทนทานต่อสภาวะอากาศที่ปรวนแปรและสารเคมีที่นำมาทำลาย ไม่อ่อนแอเหมือนระยะที่แบ่งตัวออกมาเป็นเซลล์และระบาดทำลายใบพืชหรือลีลาวดี

การป้องกันควรใช้ ฟังก์กัสเคลียร์ (ผงจุลสี, ซิลิสิค แอซิด, ทองแดง,แมงกานีส, แคลเซียม) 2 กรัม ร่วมกับ แซนโธไนท์ (สารสกัดจากเปลือกมังคุด สามารถทำได้เองดังสูตรที่เผยแพร่ไว้ในบทความก่อน) ในอัตรา 2 ซี.ซี.  ต่อน้ำ 20 ลิตรฉีดพ่นทุกครั้งหลังฝนตกหรือเริ่มพบว่ามีการระบาดจะช่วยในเรื่องการยับยั้งและทำลายเชื้อราและแบคทีเรียอย่างน้อยฉีดในช่วงแรกๆสักสองสามครั้ง โดยจะเน้นไปที่การทำลายสปอร์ซึ่งเป็นสาเหตุเริ่มต้นทำให้เกิดการระบาดไปยังส่วนอื่นๆได้ง่าย หลังจากนั้นจึงค่อยใช้ ไตรโคเดอร์ม่าชนิดละเอียด หรือบีเอสพลายแก้ว มาทำหน้าที่รักษาและป้องกันอาการของโรคนี้อีกครั้งหนึ่งในลำดับถัดไปในบริเวณที่เกิดโรคและเป็นช่วงของระยะเซลล์ที่กำลังแบ่งตัวลุกลามทำลาย เพราะเชื้อราสนิมนี้การดูแลรักษาทำได้ค่อนข้างยาก พอๆกับที่เราพบในแตงกวาและถั่วฝักยาว อย่างไรตระกูลพืชผักก็ยังยากกว่าเพราะมีอายุการเก็บเกี่ยวที่สั้น

มนตรี  บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

กุหลาบใบใส ดอกสวยด้วยการให้สารอาหารครบถ้วน

January 30, 2012

ไม้ดอกที่จัดว่าสวยในระดับขึ้นชื่อว่าเป็นราชินีแห่งไม้ดอกทั้งปวง อีกทัั้งยังเป็นที่โปรดปรานนักหนาของบรรดาอิสตรีโดยทั่วไป ไม่เว้นแม้เด็กหรือผู้ใหญ่ต่างใส่ใจให้ความสำคัญ กลีบดอกสีแดงสดริ้วระเรื่อย้วยเยิ้มพริ้มพรายดึงดูดให้ผู้คนขวนขวายซื้อหาไปสะสมเก็บตุนไว้เชยชม…สิ่งที่กำลังพูดถึงอยู่นี้คืดกุหลาบนั่นเองครับ พืชที่อ่อนแอบอบบางแฝงไปด้วยเสน่ห์เย้ายวนชวนให้หลงไหลน่าติดตาม ยามใดที่อดใจไม่ไหวเผลอไผลซื้อหา เพียงเพื่อปรารถนาชื่นชมความสวยงามเพียงชั่วครู่ชั่วยามพอนานไปทั้งดอกใบไม่งามดังวันวานที่ซื้อมาน่าแปลกใจไหมครับ

ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะความทะนุถนอมประคบประหงมเอาใจใส่ดูแลของพ่อค้ากล้าไม้ที่ใส่ใจเพาะเลี้ยงกุหลาบจนสวยงามได้ที่พอดีกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่ผ่านไปผ่านมา ความรู้และประสบการณ์ของผู้เพาะเลี้ยงบำรุงด้วยสารอาหารมาอย่างดี ยาวนานด้วยความเป็นมืออาชีพจึงทำให้กุหลาบดูสวยงามน่าชมเชยน่าซื้อหาอยู่ตลอดเวลา  แต่กุหลาบไช่ว่าจะสวยงามอยู่กับเราได้ตลอดไปเพราะเป็นพืชที่ต้องการการดูแลบำรุงรักษาเอาใจใส่ค่อนข้างมาก  ยิ่งผู้ซื้อที่ขาดการเอาใจใส่ดูแลไม่ต้องพูดถึงกุหลาบที่สวยงามจะอยู่กับท่านไม่นานเผลอแป๊ปเดียวดอกหายกลายเป็นใบที่ห่อเหี่ยวร่วงโรย

ที่เป็นเช่นนี้เพราะสารอาหารที่ถูกฉีดอัดยัดเยียดอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้กุหลาบดูสวยงามต่อเนื่องยาวนานได้ถูกใช้ให้ลดหมดไปตามกาลเวลา บ้างก็ผ่านกรรมวิธีกระตุ้นบังคับด้วยสารต่างๆมากมายหลากหลายไม่ว่าจะเป็นสารพาโครบิวทราโซน, โพแทสเซียมคลอเรท และไทโอคาร์บาเมท ที่ช่วยกันเร่งเร้าให้กุหลาบเกิดดอกออกผลได้ดังใจทันต่อความต้องการของตลาด เมื่อฤทธิ์เดชของของสารเหล่านี้หมดลงก็เปรียบเหมือนช้างที่ถูกใช้แรงงานอย่างหนักโดยแอบให้มันกินยาบ้าโดยไม่รู้ตัว เมื่อหมดฤทธิ์มันจะผอมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ไม่ช้าไม่นานก็คงจะตาย

ต้นกุหลาบก็เหมือนกันหลังจากที่ซื้อมาแล้วระยะหนึ่งเราจะต้องเติมอาหารหมั่นดูแลดิน ควรให้กินอาหารครบห้าหมู่ของพืช ฟังดูอาจจะงงเล็กน้อยว่าเอ..พืชเขากินอาหารเหมือนคนด้วยหรือ..ไม่ใช่นะครับ เพียงพูดให้เข้าใจกันง่ายๆ ห้าหมู่ของพืชคือต้องให้อาหารครบทั้งธาตุหลัก (ไนโตรเจน, ฟอสฟอรัส, โพแทสเซียม), ธาตุรอง (แคลเซียม, แมกนีเซียม,กำมะถัน), ธาตุเสริม(เหล็ก, ทองแดง, แมงกานีส, สังกะสี, โบรอน, นิกเกิลและโมลิบดินั่ม)และจะให้สีสันสดใสและแข็งแรงยิ่งขึ้นควรเติมพวกธาตุพิเศษ(ไคโตซาน, ซิลิก้าหรือหินแร่ภูเขาไฟ) ธาตุอาหารเหล่านี้จัดอยู่ในระดับพิเศษ(พิเศษไม่ได้หมายถึงวิเศษมหรรศจรรย์นะครับ แต่เป็นธาตุอาหารที่ได้รับการยอมรับในเชิงวิทยาศาสตร์และเราอาจจะได้ยินได้ฟังกันมาไม่นานเพียงสิบกว่าปีมานี้เอง) โดยพืชจะมีหรือไม่มีก็ได้ไม่มีผลต่อการเจริญเติบแต่ถ้ามีจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงสร้างภูมิต้านทานและกระตุ้นการเจริญเติบโตได้ดีเพิ่มขึ้น ถ้าราคาไม่สูงเกินไปเพียงปิ๊ปละบาทสองบาทก็ควรเสริมเข้าไป

ไม่ควรใส่ปุ๋ยให้กุหลาบแต่ธาตุอาหารหลักเพียงอย่างเดียว เช่นปุ๋ยสูตร 46-0-0, 15-15-15, 16-16-16, 25-7-7 ฯลฯ เพราะอาจไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตและทำให้กุหลาบอ่อนแอและไม่พร้อมต่อการออกดอก ทำให้กุหลาบของเรามีดอกเพียงช่วงแรกที่เราซื้อมาหลังจากนั้นก็เหลือแต่ต้นกับใบให้ชื่นชมอย่างยาวนาน บางคนเข้าใจผิดคิดว่าการปลูกคือการเติมปุ๋ยที่ซื้อจากท้องตลาดมาเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอ ความจริงไม่ใช่นะครับยังมีองค์ประกอบและรายละเอียดต่างๆอีกมากมายที่ต้องหมั่นศึกษาเอาใจใส่โดยเฉพาะกับผู้ที่รักต้นไม้จริงๆ แต่ถ้าซื้อมาแบบปลูกๆเปลี่ยนๆก็ไม่ต้อง ผู้ปลูกกุหลาบควรหมั่นปรับปรุงพรวนดินให้ร่วยซุยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้รากได้รับอ๊อกซิเจนอย่างเพียงพอ ระบายถ่ายเทน้ำได้ดี เพราะดินกระถางเมื่อเรารดน้ำไปเรื่อยๆน้ำจะพัดพาเอาอินทรีย์วัตถุออกไปทุกครั้ง ทำให้โครงสร้างดินเสื่อมสภาพแน่นแข็ง ค่าพีเอช ค่าอีซี ของดินลดลงดินจะเริ่มเป็นกรด ทำให้ดินบล็อคปุ๋ยพืชดูดกินได้ยากลำบากสิ้นเปลืองต้นทุนและแรงงาน

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

วิธีแก้ปัญหาเชื้อราในกล้วยไม้

September 8, 2009

กล้วยไม้ จัดเป็นพืชที่ดูแลรักษาค่อนข้างยากเพราะบอบบาง อ่อนแอ ไม่ทนทานต่อโรคและแมลงสักเท่าไร ดังนั้นผู้ที่จะปลูกจะต้องเป็นผู้ที่มีใจรักในพืชชนิดนี้อยู่พอสมควรเลยนะครับ เพราะจะต้องมีความทรหดอดทนในการเอาใจใส่ในการดูแลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้กล้วยไม้ที่มีความสวยสดงดงาม และทำให้สภาพต้นมีความอุดมสมบูรณ์และเกลี้ยงเกลาสะอาดตาเป็นที่เจริญหูเจริญตาของคนที่ผ่านมาผ่านไป และที่สำคัญจะต้องทำให้มีดอกออกมาให้ได้ชื่นชมด้วย ไม่ใช่ว่าปล่อยให้ถูกหนอน โรคและแมลงเข้าทำลายจนเสียหายยับเยินไม่ผลิดอกออกผลดูแล้วไม่งามตา จะอวดเพื่อนฝูงที่มาเยี่ยมเยียนที่บ้านบ้างก็ไม่ได้ เพราะไม่น่าจะมีความภูมิใจสักเท่าไรถ้ากล้วยไม้ที่เลี้ยงไว้แครแกร็นใบแหว่งเว้าดูแล้วไม่สวยงามและสมบูรณ์

ปัญหาที่นักเพาะกล้วยไม้ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นมือสมัครเล่นหรือมืออาชีพที่พบกันส่วนมากและเป็นเรื่องที่เราจะนำมาพูดคุยกันในที่นี้ก็คือเรื่องของเชื้อราต่าง ๆที่เข้ามารบกวนกล้วยไม้ เ ช่น โรคใบจุด ใบไหม้ ใบด่าง และอื่นๆ อีกมากมาย ต้นเหตุของปัญหานี้มีสาเหตุมาจากเชื้อราเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งลักษณะอาการของโรคและบาดแผลที่พบก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละสายพันธุ์ของเชื้อราที่เข้าทำลาย แต่ถ้ามองในสภาพโดยรวมก็ไม่แตกต่างกันสักเท่าไร

วิธีการดูแลรักษามิให้เชื้อราเข้าทำลายกล้วยไม้ของเราได้อย่างง่ายดายก็โดยการใช้ภูไมท์ซัลเฟต 3 ขีด ผสมน้ำ 20 ลิตรทำการราดรดไปที่รากและต้นของกล้วยไม้อยู่เสมอจะทำให้กล้วยไม้ได้รับซิลิก้าจากภูไมท์ซัลเฟต และสมสมไว้ที่ผนังเซลล์เพิ่มขึ้นอยู่เสมอจนมีความแข็งแกร่งเพียงพอต่อการเข้าทำลายของเชื้อรา และควรใช้ ไคโตซานMt 5 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออาจจะผสมพร้อมไปกับปุ๋ยที่ฉีดพ่นกล้วยไม้อยู่แล้วก็ได้ จะทำให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อราได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ในกรณีที่มีเชื้อราได้เขาทำลายเซลล์และเนื้อเยื้อของกล้วยไม้แล้วเราก็จะสามารถที่จะใช้ ฟังก์กัสเคลียร์ 2 กรัม ร่วมกับ แซนโธไนท์ 2 ซี.ซี. ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น 3 – 7 วันครั้ง ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการระบาด ถ้ามีความเสียหายมากก็ให้ทำการฉีดพ่น 3 วันครั้ง แต่ถ้าต้องการฉีดพ่นเพื่อล้างใบหรือทำลายสปอร์ปรกติก็ให้ฉีดพ่น 7 วันครั้ง ในกรณีที่ใช้แล้วยังมีเชื้อราที่ทำลายหลงเหลืออยู่สามารถนำ จุลินทรีย์ บีเอสพลายแก้ว 5 กรัมหมักกับน้ำมะพร้าวอ่อน 1 ผล หรือ นมยูเฮชที รสหวาน 1 กล่อง หมักทิ้งไว้ 24 และไม่เกิน 48 ชั่วโมง แล้วนำมาผสมกับน้ำ 20 ลิตรฉีดพ่น ก็จะทำให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อการป้องกันและกำจัดเชื้อราในกล้วยไม้ได้อย่างดียิ่ง

มนตรี บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ (www.thaigreenagro.com)

ปลูก “หน้าวัว” ปลอดสารพิษที่อำเภอปากช่อง

August 31, 2009

อำเภอปากช่อง จัดเป็นอีกพื้นที่หนึ่งของประเทศไทยที่มีชื่อเสียงในเรื่องของสภาพภูมิอากาศที่สดชื่น เย็นสบาย เป็นที่ต้องการของผู้ที่อยู่ในวัยหลังเกษียนมาจับจองซื้อไว้เป็นสถานที่ผักผ่อนหย่อนใจกันเป็นจำนวนมาก หรือไม่ก็อีกพวกหนึ่งที่ต้องการมาเพื่อหลบหลีกจากปัญหามลภาวะในเมืองหลวงซึ่งมีแต่หมอกควันจากไอเสียรถยนต์ กลิ่นของน้ำที่เน่าเสีย และมลพิษต่างๆ อีกมากมาย ที่มักจะไม่ใช่ปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมให้ร่างกายได้รับความสดชื่น แจ่มใส แข็งแรงและปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บใด ๆ ได้เลย มีแต่จะซ้ำเติมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

เนื่องจากมีสภาพภูมิอากาศที่ค่อนดีข้างเย็นสบาย จึงมีเกษตรกรที่ตั้งใจทำสวนองุ่น ปลูกข้าวโพด ข้าวบาเล่ย์ ไม้ดอกไม้ประดับต่าง ๆ กันอยู่เป็นจำนวนมาก และโดยเฉพาะไม้ดอกไม้ประดับที่มีชื่อว่า หน้าวัว ( Anthurium) ซึ่งจัดเป็นพันธุ์ไม้ตัดดอกที่อยู่ในตระกูล Araceae แม้ว่าในปัจจุบันมักจะไม่ค่อยโด่งดังเหมือนดังแต่ก่อน แต่ก็ยังเป็นที่นิยมกันอยู่ตลอดกาลสำหรับผู้ที่นิยมชมชอบ และยังเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่เสมอมา เพราะสามารถที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศได้

คุณธนา โปรเทียรณ์ อยู่ที่บ้านเลขที่ 14 หมู่ 7 ตำบล พญาเย็น อำเภอ ปากช่อง จังหวัด นครราชสีมา โทร. 08-365-7792 ซึ่งเป็นอีกผู้หนึ่งที่นิยมชมชอบ “หน้าวัว” เป็นชีวิตจิตใจ และได้พัฒนาปรับปรุงวิธีการดูแลรักษาจนมาเป็นระบบปลอดสารพิษ ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง โดยจะใช้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มของหินแร่ภูเขาไฟ เช่น ภูไมท์, ภูไมท์ซัลเฟต เป็นวัตถุดิบผสมร่วมกับวัสดุปลูก และใช้ ไคโตซาน Mt ช่วยในเรื่องการบำรุงเร่งการเจริญเติบโต สร้างภูมิคุ้มกันต้านทานเชื้อรา ส่วนปัญหาในเรื่องของเชื้อราทางใบและดอก คุณธนา จะนิยมชมชอบใช้ ไตรโคเดอร์ม่า ในการช่วยป้องกันรักษาเชื้อราทางใบเป็นพิเศษ โดยวิธีการฉีดพ่น เพราะปรกติแล้วนักวิชาการจากชมรมเกษตรปลอดสารพิษ จะแนะนำให้ใช้ ฟังก์กัสเคลียร์ 2 กรัม และ แซนโธไนท์ 2 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นสลับกับ เชื้อบีเอสพลายแก้วที่หมักขยายแล้ว ทุกๆ 7 วัน แต่คุณธนาแจ้งว่า ใช้ไตรโคเดอร์ม่า ก็แก้ปัญหาโรคเชื้อราทางใบได้ยอดเยี่ยมดีแล้ว ซึ่งก็ถือว่าเป็นเทคโนโลยีการเกษตรปลอดสารพิษอีกขั้นหนึ่งของผู้ที่นิยมชมชอบการปลูกไม้ดอกไม้ประดับแบบปลอดสารพิษ และทำได้จริง ๆ

มนตรี บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

ดูแลไม้กระถางอย่างไร ไม่ต้องเปลี่ยนดินบ่อย

August 31, 2009

ผู้ที่ปลูกไม้ในกระถางส่วนใหญ่ เมื่อปลูกไปได้สักระยะหนึ่งมักจะมีปัญหาหน้าดินกระด้าง แห้งแข็ง ดินชั้นล่างก็เหนียวแน่นไม่โปร่ง ร่วนซุย การระบายถ่ายเทน้ำไม่ดี ดินแฉะก่อให้เกิดปัญหารากเน่าโคนเน่า ต้นไม้เครียด การเจริญเติบโตไม่ดี อ่อนแอต่อโรคและแมลง ทำให้ต้องสิ้นเปลืองเงินทองนำมาบำรุงรักษาเพิ่มเติมมากขึ้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้ผลิตดินถุงจำหน่ายส่วนมากผลิตดินได้ต่ำกว่ามาตรฐานไม่เหมือนในสมัยก่อนที่มีการใช้อินทรียวัตถุมาเป็นส่วนผสมค่อนข้างมาก จึงมักไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องนี้กันมากเท่าไรนัก แต่ในปัจจุบันเจ้าของดินทั้งหลายอาจจะขาดแคลนอินทรีย์วัตถุหรืออินทรียวัตถุอาจจะหายากและมีราคาแพง จึงทำให้คุณภาพดินถุงในปัจจุบันไม่ดีเท่าที่ควร เพราะรู้สึกว่าจะมีแต่ดินเหนียวผสมกับขี้เถ้าแกลบเป็นส่วนมาก ทำให้ผู้ที่นิยมซื้อดินถุงทั้งหลายมาปลูกไปได้สักระยะหนึ่งก็จะมีปัญหาดินเหนียวแน่นแข็ง การระบายถ่ายเทน้ำไม่ดี ต้นไม้ทำท่าว่าจะตาย ก็ต้องรีบทำการซื้อดินถุงมาเปลี่ยนกันอยู่บ่อยๆ

ควรมีการเตรียมและปรับปรุงดินที่ซื้อมาใหม่ๆ ให้ดีเสียก่อน ควรนำมาคลุกผสมกับปุ๋ยหมักปุ๋ยคอก เพื่อเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดินอย่างพอเพียง เพราะดินที่เราซื้อมานั้นอาจจะมีอินทรีย์วัตถุอยู่น้อยเกินไป และเหมือนกับเป็นการเติมอาหารให้แก่จุลินทรีย์เพื่อดึงดูดให้จุลินทรีย์เข้ามาสร้างกิจกรรมเพิ่มมากขึ้นจะช่วยทำให้ดินมีชีวิตชีวาปลูกอะไรก็จะเจริญเติบโตงอกงามดี ควรใช้ภูไมท์ซัลเฟตถุงสีเหลืองคลุกผสมกับดินก่อนที่จะนำไปใส่กระถางในอัตรา 1 ส่วน 4 ของดินที่จะปลูกในกระถาง จะช่วยทำให้ดินในกระถางมีโครงสร้างดินที่ดีไม่ย่อยสลายยุบตัวลงแน่นแข็งรวดเร็วเกินไป ทำให้การระบายถ่ายเทน้ำพอเหมาะพอดีไม่มากเกินไปและน้อยจนเกินไป ช่วยทำให้ต้นไม้ไม่เครียด มีรากเยอะ การเจริญเติบโตสมบูรณ์แข็งแรง

หลังจากที่ได้นำต้นไม้ปลูกลงไปในกระถางเรียบร้อยแล้วสักระยะหนึ่ง ถ้าเจอปัญหาดินแน่นแข็งเพราะโครงสร้างดินเสีย หรือดินถุงที่ซื้อมาคุณภาพไม่ดี จับตัวกันเป็นก้อนเหนียวซึ่งโดยปรกติในปัจจุบันมักจะเป็นเช่นนี้เสมอ ควรทำการแก้ไขโดยวิธีการดังนี้ ทุกครั้งที่มีการรดน้ำควรจะนำสารละลายดินดาน 30 ซี.ซี. บวกกับ โพแทสเซียมฮิวเมท 5 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมร่วมลงไปทุกครั้ง จะช่วยทำให้ดินในกระถางของเราไม่แน่นแข็ง และเหนียวแน่น การระบายถ่ายเทน้ำดี จะช่วยทำให้เกิดโครงสร้างที่เกิดเป็นเม็ดดินที่อุ้มน้ำอุ้มปุ๋ยได้ดี ปรับความเสถียรของพีเอชดินไม่ให้เปลี่ยนเป็นกรดหรือด่างเร็วเกินไป ปรับเปลี่ยนสารอาหารที่อยู่ในดินให้อยู่ในรูปคีเลททีพืชสามารถดูดกินหรือนำไปใช้ไปได้ง่ายขึ้น แล้วยังช่วยลดการสูญเสียปุ๋ยที่ใส่ลงไป เพราะโพแทสเซียมฮิวเมท มีค่าความสามารถในการจับตรึงและแลกเปลี่ยนประจุบวกมากกว่าดินเหนียวถึง 20 เท่า ดังนั้นทุกครั้ง หรืออย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง ถ้าใส่ทั้งสองตัวนี้ผสมลงไปกับน้ำด้วยจะทำดินของเราไม่เหนียวแน่นแข็ง ทำให้ต้นไม้ของเราเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์แข็งแรง และไม่เสียเวลาเปลี่ยนดินในกระถางบ่อยๆ ทำให้เราประหยัดทั้งเงินและยังมีความสุขกับไม้กระถางที่เลี้ยงไว้อย่างสวยงามตลอดไป

มนตรี บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

จะทำอย่างไร?……ให้ไม้ดอกไม้ประดับผลิดอกออกผลให้เราได้ชื่นชม

August 31, 2009

ผู้ที่ชอบซื้อไม้ดอกไม้ใบมาประดับตกแต่งภูมิทัศน์รอบๆบ้าน ก็หวังจะชื่นชมความสวยสดงดงามจากธรรมชาติที่มอบให้ นอกจากจะมีความสุขสนุกสนานกับการรดน้ำ พรวนดินให้แก่ต้นไม้แล้ว ก็ยังลุ้นว่าเมื่อไรหนอดอกไม้สีสวยจะผลิแย้มออกมาให้ชื่นชมสมดังใจเสียที รอแล้วรอเล่าเฝ้าแต่รอ…ก็ยังไม่มี เพราะอ่านตำราแบบใหม่ ต้องปลอดภัยต่อชีวี ห้ามใส่ปุ๋ยคเมี จึงใส่แต่ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอก ดอกจึงไม่มีแถมใบยังออกมาเสียมากมาย

ทำไม?…จึงเป็นเช่นนั้น หรือว่าการที่เราใส่ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกแต่เพียงอย่างเดียวนั้นอาจจะทำให้พืชหรือต้นไม้ของเราได้รับธาตุอาหารตัวหน้าสูงเกินไป นั่นก็คือ “ไนโตรเจน” ซึ่งจะทำให้พืชเจริญเติบโตทางใบเป็นอย่างมากและอ่อนแอต่อโรคและแมลงได้ง่ายถ้าเราใส่เจ้า “ไนโตรเจน” ตัวนี้เข้าไปในดินมากเกินไป จึงทำให้พืชที่เราปลูกอยู่นั้นอาจจะไม่ยอกผลิดอกออกผลให้แก่เจ้าของก็เป็นได้
แนวทางที่จะช่วยทำให้พืชพัฒนาและเจริญเติบโตเป็นดอกได้ดีก็คือ การควบคุม คาร์บอนและไนโตรเจน (C : N Ratio) ให้อยู่ในความเหมาะสม ถ้าเราต้องการที่จะให้พืชออกดอกให้เราได้ชื่นชม ควรทำการใส่ธาตุอาหารคาร์บอนให้เขากินเข้าไปเยอะ ๆ เมื่อพืชหรือต้นไม้ของเราได้สะสม คาร์บอน เก็บไว้เยอะจนมีปริมาณที่สูงกว่าไนโตรเจน ก็จะทำให้พืชพัฒนาเป็นตาดอกได้ง่ายขึ้น
จะให้ “คาบอร์นฯ” เมื่อไรดี?… ระหว่างที่จิตใจของเรากระวนกระวายรอคอยให้แมกไม้นานาพันธุ์ของเราออกมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้วและ/หรือว่าอาจจะอยู่ในฤดูที่ต้นไม้ของเราจะต้องออกดอกแล้ว….แต่!..เขากลับไม่ยอมออก……ตรงนี้ล่ะครับคือช่วงเวลาที่ควรจะรีบเติมคาร์บอนเข้าไปให้แก่ต้นไม้ของเรา เอ!…แล้วจะเอามาจากที่ไหน? อันนี้ไม่ต้องกังวลครับ ทางชมรมเกษตรปลอดสารพิษ เขามีสูตรฮอร์โมนไข่ ที่ใช้ในการเปิดตาดอกโดยตรง ซึ่งเป็นตัวที่ให้แร่ธาตุปริมาณคาร์บอนเป็นจำนวนมาก โดยปรกติแล้วจะทำไว้ให้กลุ่มเกษตรชาวสวนชาวไร่ไม้ผล นำไปใช้ในช่วงเปิดตาดอก ซึ่งก็ให้ผลเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก เพราะช่วยกระตุ้นทำให้เกิดการออกดอกโดยที่ไม่ต้องไปทรมานต้นไม้ อย่างที่ชาวสวนในอดีตเขาทำกันเช่น ควั่นกิ่ง, รมควัน, ทิ้งน้ำ (ปล่อยให้อดน้ำโดยไม่ต้องรดเป็นเวลาหลายวัน), ใช้สารพาร์โคบิวทราโซน และ โพแทสเซียมคลอไรด์ ต่างๆ แล้วแต่จะสรรมาทำกัน ซึ่งวิธีแบบนี้จะทำให้ต้นไม้ของเราอยู่กับเราไม่ได้นาน เพราะสภาพต้นจะอ่อนแอลงไปเรื่อย ๆ จนตายในที่สุด
วิธีการทำ ฮอร์โมนไข่…. ก็ไม่ยากอย่างที่คิด เพียงแค่นำไข่ไก่ ชั่งน้ำหนักให้ได้ 5 กิโลกรัม แล้วนำมา บด ทุบ ตี ให้ละเอียด นำไปใส่ภาชนะขวดโหลหรือถังพลาสติก แล้วนำกากน้ำตาลอีก 5 กิโลกรัม ใส่เพิ่มลงไป ลูกแป้งข้าวหมาก (ต้องเป็นลูกแป้งข้าวหมากเท่านั้นนะครับ….ลูกแป้งเหล้าไม่แนะนำ) 1 ลูก ก่อนใส่ให้นำไปใส่ไว้ในถุงก๊อปแก๊ปแล้วบี้ ขยำให้ละเอียดเป็นผุยผง แล้วค่อยโปรยลงไปในภาชนะ สุดท้าย….ท้ายยังไม่ท้ายสุดให้นำยาคูลท์ใส่เพิ่มลงไปอีกหนึ่งขวด แล้วกวนให้เข้ากันเป็นอันเสร็จพิธี หมักทิ้งไว้ ให้ครบ7 วันโดยไม่ต้องคน อ๊ะ!..เกือบลืมถ้าเป็นภาชนะปากกว้างอย่าลืมนำถุงพลาสติกมาปิดคลุม แล้วใช้เชือกผูกมัดปิดปากให้แน่น แล้วใช้ไม้แหลมจุ้มให้มีอากาศเข้าได้บ้างเล็กน้อย
วิธีการใช้ฮอร์โมนไข่ หลังจากที่เราหมักฮอร์โมนไข่จนเสร็จสมบูรณ์แล้ว ให้นำมาใช้ในการฉีดพ่นทางใบในอัตรา 5 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตรฉีดพ่นให้ทั่ว ชุ่มโชก ทั้งใต้ใบ บนใบเหมือนอาบน้ำ ทุก ๆ 3 – 7 วัน ถ้าขนาดของลำต้นหรือทรงพุ่มมีขนาดใหญ่อาจจะราดรดทางดินช่วยอีกทางก็ได้โดยใช้ 20 – 30 ซี.ซี. (1 -2 ช้อนแกง) ต่อน้ำ 20 ลิตร ราดรดให้ทั่ว ๆ รอบ ๆ บริเวณทรงพุ่มเพียงเดือนละครั้งสองครั้งก็พอ
เมื่อทำเสร็จสรรพครบทุกกระบวนการแล้วก็หวังว่า….เพื่อนสมาชิกและกัลยาณมิตรทั้งหลายคงจะมีต้นไม้ที่ที่เพียบพร้อมไปด้วย กิ่ง ก้าน ใบ และดอก โดยเสร็จสมอารมณ์หมายกันถ้วนหน้านะครับ ใช่ว่าจะมีแต่ดอกเพียงอย่างเดียว (ฮา…….)

มนตรี บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com