Archive for the ‘ดิน ปุ๋ย น้ำ สายลม และแสงแดด’ Category

การใช้ไบโอฟิล์ม 200 ปรับสภาพน้ำลดการฟุ้งกระจายละอองของยาฆ่าหญ้าและสารพิษ

May 15, 2016

การใช้ไบโอฟิล์ม 200 ปรับสภาพน้ำลดการฟุ้งกระจายละอองของยาฆ่าหญ้าและสารพิษ

การประกอบอาชีพเกษตรกรรมนับว่าเป็นอาชีพที่ยากลำบากแล้ว แถมยังต้องมีองค์ความรู้ในหลายๆด้านในการเพาะปลูกไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ในเรื่องของดิน เรื่องน้ำ เรื่องปุ๋ย เรื่องสภาพภูมิอากาศ เรื่องโน่น นี่ นั่น อีกเยอะแยะมากมาย นอกนั้นในห้วงช่วงหน้าแล้งก็จะมีปัญหาแย่งกันวิดน้ำ สูบน้ำจากคลองชลประทานเข้าสู่คลองย่อยและทอยน้ำเข้าไปสู่แปลงนา ต้องแย่งน้ำกัน แย่งพื้นที่ในการวางท่อเพราะว่าท่าน้ำนั้นบ้างก็เล็ก บ้างก็แคบ ต้องรอคิว แต่ความต้องการใช้น้ำของพืชส่วนใหญ่จะสวนทางกันคือ พืชต้องการน้ำอย่างต่อเนื่องและพร้อมกัน ดังนั้นจึงอดไม่ได้ที่ชาวบ้านก็จะมีปัญหาในเรื่องของการแย่งน้ำ

ดังนั้นในห้วงช่วงนี้จึงมีแต่ผู้คนสนใจในเรื่องของการใช้สารอุ้มน้ำโพลิเมอร์นำมาช่วยแก้ปัญหาเรื่องพืชที่ขาดแคลนน้ำ หรือกำลังรอน้ำที่วิดเข้ามาสู่แปลงเรือกสวนไร่นากันมาก หลังจากที่ได้ออกอากาศผ่านทางสถานีวิทยุ มก. ทั้ง 4 ภาค (ภาคกลางสถานีวิทยุมก. บางเขน AM1107, ภาคอีสานสถานีวิทยุมก. บางเขน AM1314, ภาคเหนือ สถานีวิทยุมก. เชียงใหม่ AM612 และภาคใต้สถานีวิทยุมก. สงขลา AM1269) เกี่ยวกับเรื่องการแก้ปัญหาภัยแล้งระดับชาติด้วยการใช้สารอุดบ่อกันรั่วซึมทำสระน้ำประจำไร่นา การใช้สารอุ้มน้ำโพลิเมอร์รองก้นหลุมปลูกอ้อย โทรศัพท์มาสอบถามกันแบบที่เรียกว่าสายไหม้ (ฤาว่าปีนี้จะเผาจริงกันจริงๆ หลังจากที่หมดงบกินเปล่ามาสองปีจากภัยแล้ง อย่างไรปีนี้จะแล้งอย่างไรก็ไม่ว่า ต้องออกมาทำไร่ไถนากัน ขืนอยู่นิ่งๆคงอดตายกับปัญหาเศรษฐกิยุคข้าวยากหมากแพงแบบนี้……ขอบ่นแทนประชาชนคนไทยภาคเกษตรหน่อยแล้วกันนะครับ ฮ่าๆ)อันนี้ก็นึกคิดเอาเองนะครับว่าคงเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ต้องการเพาะปลูกอย่างจริงจังแน่ๆ พอได้ฟัง ได้อ่านและรู้ว่ามีสารอุ้มน้ำช่วยในเรื่องของการประหยัดน้ำ ไม่ต้องรดน้ำบ่อยๆ หรือมีสารอุดบ่อช่วยป้องกันบ่อรั่วซึมจึงเกิดความสนใจกันค่อนข้างมากและจึงได้โทรมาหาข้อมูลเพิ่มเติม

แต่วันนี้อยากจะบอกประโยชน์อีกด้านหนึ่งของญาติห่างๆ ของเจ้าโพลิเมอร์ (Polymer) นั่นก็คือ ไบโอฟิล์ม200 (Biofilm200) ซึ่งอยู่ในกลุ่ม โพลิเอคริลามายด์ (Polyacrylamide – Floculant) ที่มีลักษณะช่วยทำให้น้ำมีความหนักหน่วง ไม่ฟุ้งกระจายหรือปลิวไปได้ไกล จึงเหมาะต่อการที่พี่น้องเกษตรกรจะนำไปผสมกับน้ำก่อนฉีดพ่นยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าหนอนแมลงที่มีพิษร้ายแรง ป้องกันละอองของสารเคมีเหล่านี้ไปทำลายพืชไร่ไม้ผลหรือแปลงผักสวนครัวรั้วกินได้ของเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจุบันเดี๋ยวนี้มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเกี่ยวกับเรื่องนี้กันค่อนข้างบ่อยและมากพอสมควร ทางชมรมเกษตรปลอดสารพิษ จึงขออนุญาตแนะนำให้ท่านลองใช้ ไบโอฟิล์ม200 ดูนะครับ ใส่เพียง 2.5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (ต้นทุนตกอยู่ประมาณซองละ 5 บาท) แล้วกวนให้ละลายเป็นเมือกตามสมควรแล้วจึงค่อยใส่ยาคุมหญ้า หรือยาฆ่าหญ้า แล้วจึงค่อยฉีดพ่น รับรองว่าละอองของยาหรือสารเคมีเหล่านี้จะไม่ฟุ้งกระจาย ปลิวลอยไปรบกวนสวนของเพื่อนบ้านอย่างแน่นอน ทั้งประหยัดและรักษามิตรภาพกับพื้นที่ใกล้เคียงได้เป็นอย่างดี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 081 313 7559 นะครับ

มนตรีบุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษwww.thaigreenagro.com

เทคโนโลยีและภูมิปัญญาไทย ในการแก้ปัญหาภัยแล้งระดับชาติ

May 15, 2016

เทคโนโลยีและภูมิปัญญาไทย ในการแก้ปัญหาภัยแล้งระดับชาติ

ประเทศไทยเรามีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 512,000 ตารางกิโลเมตร หรือถ้าคิดเป็นจำนวนไร่ ก็มี 320,696,888 ไร่ มีพื้นที่เพาะปลูกด้านการเกษตรอยู่ 149,236,233 ตัวเลขนี้เมื่อปี 2556 ของสำนักเศรษฐกิจการเกษตรที่ได้รวบรวมไว้เมื่อปี 2557 และถ้าเราจะลองย้อนกลับไปดูสักสามสี่ปีที่แล้วคือเมื่อปี 2553ลองเปรียบเทียบดูก็จะพบว่า พื้นที่การเกษตรของเราลดน้อยถอยลงมากว่าแต่ก่อน เพราะสี่ปีที่แล้วนั้นเรายังมีพื้นที่ใช้สอยทางการเกษตรอยู่ที่ 149,416,681 ไร่ ซึ่งหายไป180,449 ไร่ และส่วนที่เหลือก็จะเป็นพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่นอกการเกษตร และพื้นที่อื่นๆตามลำดับ

ปริมาณน้ำฝนที่ตกในบ้านเราเฉลี่ยทั้งปีก็จะมีปริมาณ 1,700 มิลลิเมตร คิดเป็นปริมาณมวลน้ำก็จะอยู่ประมาณ 800,000 ล้านลูกบาศก์เมตร อย่าเพิ่งดีใจไปนะครับ เพราะบางส่วนซึมลงชั้นใต้ดินไป   ระเหยคืนกลับสู่ชั้นบรรยากาศบ้าง เหลือตกค้างให้เราไว้ใช้เพียง 200,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ประมาณเกือบ 30% ซึ่งกระจัดกระจายไปตามห้วย หนอง คลอง บึง และเขื่อนต่างๆ เขื่อนใหญ่เขื่อนขนาดกลางประมาณ 650 แห่ง เขื่อนเล็ก เขื่อนน้อย ฝาย เช็คแดมต่างๆอีก 60,000 แห่ง รวมๆกันก็กักเก็บน้ำไว้ให้เราได้ปีละ 70,800 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ทั้งหมด และน้ำส่วนที่เหลือก็ถูกปล่อยทิ้งลงสู่ทะเลไปแบบไร้การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ….แหม! ช่างน่าเสียดายจริงๆครับ

จากข้อมูลดังกล่าว ประเทศไทยเราจึงไม่น่าจะหลีกหนีความเสี่ยงเกี่ยวกับเรื่องของปัญหาภัยแล้งไปได้ โดยเฉพาะตัวเลขสถิติที่สามารถจับต้องได้จากกรมทรัพยากรน้ำด้วยแล้ว แบบนี้ยิ่งอกสั่นขวัญแขวญเกี่ยวกับภัยแล้งมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชไร่ไม้ผลมีความจำเป็นที่จะต้องใช้น้ำเป็นปัจจัยหลักในการเพาะปลูก ในการประกอบอาชีพหลัก เพราะนอกจากเราจะประสบพบเจอปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำที่ไว้ใช้ได้น้อยแล้ว เรายังมีปัญหาเรื่องของปรากฎการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นทุกๆ 4-5 ปีเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง และนักวิชาการบางท่านยังมีความคิดว่าในห้วงช่วง 2-3 ปีมานี้ ภัยแล้งยังเกี่ยวดองหนองยุ่งกับเอลนีโญอยู่อีก ต้องขออนุญาตเรียนว่าไม่น่าจะใช่ผลของเอลนีโญไปเสียทั้งหมดนะครับ สาเหตุที่ภัยแล้งต่อเนื่องยาวนานสองถึงสามปีติดต่อกันเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2557 ถึงปี 2558 นี้ และยังคาดการณ์กันว่าน่าจะแล้งยาวไปจนถึงเดือนพฤษภาคมปี 2559 นี้ด้วยนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของสถานการณ์โลกร้อน (Global Warming) และเรื่องของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง (Climate Change) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ตามสภาพแวดล้อมและปัจจัยของโลกใบนี้ที่ไม่น่าจะเหมือนเดิมอี่กต่อไปหรือจะเรียกว่าเลวร้ายลงกว่าเดิมไปอีกก็ได้

ความจริงเราๆท่านๆ ก็สามารถสังเกตความแปรปรวนนี้ได้ด้วยตนเองนะครับ โดยดูตัวอย่างง่ายๆจากห้วงช่วงปลายเดือนที่ผ่านมาไม่นานนี้เอง  ความหนาวเย็นยะเยือกในระดับตั้งแต่ ติดลบไปจนถึงสิบกว่าๆ องศาเซลเซียสได้คืบคลานเข้ามาปกคลุมบ้านเราแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยเกือบค่อนประเทศ ซึ่งขอเดาว่าหลายๆคนคงจะไม่ค่อยได้สัมผัสอากาศหนาวในลักษณะนี้มานานหลายปีก็ว่าได้ ไอ้ที่เคยหนาวๆกันก่อนนี้ก็น่าจะเป็นเพียงความหนาวเล็กๆ น้อยๆ หรือไม่ก็เพียงความรู้สึกเย็นๆเท่านั้น แต่ความหนาวครั้งนี้รู้สึกว่าจะหนาวจนต้องสวมเสื้อกันไว้สองสามชั้นนั่นเชียว และความหนาวเย็นในอดีตก็จะมาในห้วงช่วงปลายธันวาคมและต้นมกราคมเสียมากว่า สภาพการณ์นี้ก็สามารถชี้ให้เห็นถึงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันที่แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปแล้วมากจริงๆ และแว่วๆมาว่าในอีกไม่ช้านี้ก็จะมีหย่อมความกดอากาศสูงจากจีนอีกระลอกหนึ่ง พัดเข้ามา ซึ่งจะส่งผลให้พี่น้องเกษตรกรและพวกเราชาวไทยได้สัมผัสกับอากาศหนาวกันแบบรายสัปดาห์กันเลยทีเดียว (หนาวหนึ่งสัปดาห์ ร้อนหนึ่งสัปดาห์ และก็หนาวอีกหนึ่งสัปดาห์อะไรประมาณนี้) ซึ่งอาจทำให้พืชและสิ่งมีชีวิตนานาชนิดได้รับผลกระทบเกิดความสูญเสียต่อผลผลิตภาคการเกษตรขึ้นมาอีกก็เป็นได้ แล้วก็จะได้เบิกงบช่วยเหลือภัยแล้งกันอีก (หรือเปล่า)

จากปัจจัยลบหลายๆ ด้านที่กล่าวมานี้ ทำให้เรามิอาจนิ่งนอนใจมัวแต่รอขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น หรือขอความช่วยเหลือจากภาครัฐอยู่เพียงอย่างเดียวไม่ได้นะครับ โดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ระบบการชลประทานที่เราฝันกันว่าจะมีให้เกษตรกรได้อย่างทั่วถึงทุกหมู่บ้านหรือทุกพื้นที่ที่มีการเพาะปลูก ก็คงจะนานเกินรอหรืออาจจะเรียกว่าเป็นความหวังลมๆแล้งเสียก็ว่าได้ หรือจะมัวหวังให้มีการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำให้เพิ่มมากขึ้น ดูแล้วพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการสร้างเขื่อนก็เหลือน้อยเต็มที หรือจะเรียกว่าไม่มีเลยก็ว่าได้

และอีกปัญหาหนึ่งเกี่ยวการสร้างเขื่อนก็คือการประท้วงต่อต้านจากกลุ่มก้อนองค์กรต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับทุนสนับสนุนมาจากต่างประเทศที่ชอบเอารัดเอาเปรียบประเทศด้อยและกำลังพัฒนาอย่างเราๆ ทำให้ปัญหาการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่มนั้นเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เมื่อไม่สามารถสร้างเขื่อนสร้างฝายบนพื้นที่ที่เหมาะสมได้ในบ้านเราเอง ประเทศที่มีความโดดเด่นเชี่ยวชาญเรื่องเกษตรกรรม แผ่นดินที่เคยได้ชื่อว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ก็ไปไม่เป็น ง่อยเปลี้ยเสียขา การทำให้ประเทศเจริญประชาชนมั่งคั่งก็ทำได้ลำบาก เพราะไม่สามารถสร้างแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรมได้ (ดูๆ ไปเหมือนประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายเหล่านั้นจะรู้ว่า ถ้าประเทศเราสามารถบริหารจัดการน้ำได้เพียงพอ เราก็จะร่ำรวยมั่งคั่งเกินหน้ากว่าเขาเป็นแน่แท้

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ต้องท้อใจไปนะครับ เรายังมีทางเลือกอยู่เสมอ อย่างเช่นการน้อมนำทำตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นั่นก็คือการสร้างสระนำประจำไร่นา สระน้ำแก้มลิง ให้มากเพียงพอต่อการเพาะปลูกในพื้นที่ของเราเอง เรียกได้ว่าสระน้ำประจำฟาร์มส่วนตัวของเกษตรกร เพื่อรองรับกับปริมาณน้ำฝน ที่นับวันมีพฤติกรรมที่สะเปะสะปะตกไม่เป็นที่เป็นทาง ไม่ยอมไปตกหลังเขื่อน มัวแต่มาตกหน้าเขื่อน จนทำให้ เขื่อนใหญ่ๆหลายแห่ง มีน้ำสำรองน้อยนิดลงๆ ทุกปี พายุที่เข้า มรสุมที่พัดมาก็มีแต่ฝนที่ตกอยู่หน้าเขื่อน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่งที่เราจะทำสระน้ำประจำฟาร์มส่วนตัวของเราเอง

แต่อย่างว่าไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบ บางพื้นที่ของพี่น้องเกษตรกรก็มีปัญหาในเรื่องของสระน้ำที่รั่วซึมกักเก็บน้ำไม่อยู่โดยเฉพาะเมื่อขุดลงไปแล้วพื้นด้านล่างเป็นพื้นที่ดินทราย ดินร่วน มีรูรั่วซึม ซึ่งทำให้น้ำในบ่อหรือสระนั้นๆ ไม่สามารถที่จะกักเก็บน้ำให้อยู่ได้ยาวนานเพียงพอต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรม บางพื้นที่ก็ปล่อยน้ำลงไปแป๊ปเดียวก็แห้งแล้ว เพราะสาเหตุจากปัญหาเนื้อดินที่มี รูรั่ว รอยแยกแตกระแหง มีช่องว่างของท่อแคปปิรารี (capillary) ที่มีขนาดใหญ่เกินไป

ในกรณีของพื้นบ่อหรือพื้นสระมีปัญหาการกักเก็บน้ำไม่อยู่ รั่วซึมได้ง่าย เราสามารถดูแลแก้ไขได้ด้วยการใช้กลุ่มของสารโพลิเอคริลามายด์ polyacrylamide (สารอุดบ่อ) ซึ่งมีคุณสมบัติของกลุ่มโพลิเมอร์ (Polymer)ชนิดหนึ่ง มีความสามารถ ในการพองขยายตัวและประสานกันเป็นตาข่ายหรือร่างแหเมื่อสัมผัสหรือดูดซับน้ำเข้าไป ตาข่ายหรือร่างแหที่เหนียวลื่นนี้คล้ายๆ กับน้ำมูกในนิทานสมัยเด็กๆ เรื่องไอ้ขี้มูกมากกับไอ้ก้นแหลม สองคนนี้เป็นเพื่อนและพายเรือไปเที่ยวกลางทะเลด้วยกัน  ไอ้ก้นแหลมเกิดโต้เถียงกับไอ้ขี้มูกมากแล้วไม่พอใจ เกิดเหตุทะเลาะกันกลางทะเล ไอ้ก้นแหลมเกิดโทสะเถียงไม่ทันจึงเอาก้นกระแทกไปที่ท้องเรือจนเกิดรูรั่ว ไอ้ขี้มูกมากกลัวเรือจมก็สั่งน้ำมูกปิดรูรั่วป้องกันน้ำเข้าลำเรือเอาไว้ ไอ้ก้นแหลมยังไม่หายโมโหก็กระแทกก้นลงไปอีก ไอ้ขี้มูกมากก็สั่งน้ำมูกอุดรูรั่วอีก ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แต้ตอนจบเป็นอย่างไรผู้เขียนก็จำไม่ได้ ขออนุญาตเล่าพอสังเขปให้ท่านผู้อ่านพอนึกภาพของเจ้า “สารอุดบ่อ (polyacrylamide)” ให้ออกก็แล้วกันนะครับ

กลับมาที่สารอุดบ่อ หรือ โพลิเอคริลามายด์ (polyacrylamide) กันต่อนะครับ เมื่อน้ำแทรกซึมเข้าไปในโมเลกุลของสารอุดบ่อแล้ว น้ำสามารถยึดเกาะกับโมเลกุลของสารอุดบ่อได้จากหมู่ของเอมีน (-NH2) ของสารโพลิอะคริลามีด ที่สร้าง “พันธะไฮโดรเจน” กับโมเลกุลน้ำ (H2O) แรงนี้เป็นแรงดึงดูดอย่างอ่อนที่เกิดเฉพาะอะตอมของไฮโดรเจนกับอะตอม ของออกซิเจน (O) หรือไนโตรเจน (N) หรือฟลูออรีน (F) คุณสมบัตินี้ของสารอุดบ่อจะถูกทำให้คลายขยายตัวออกช่วยอุดประสานรูรั่ว ถ้าหว่านลงไปที่พื้นบ่อหรือสระน้ำที่มีลักษณะกักเก็บน้ำไม่อยู่ เขาก็จะไปอุดช่องว่างประสานเนื้อดินไม่ให้เกิดช่องโหว่หรือรูรั่ว

สารอุดบ่อนี้ถือว่าเป็นญาติห่างกับ สารอุ้มน้ำ (Polymer) หรือ Cross linked polyacrylamide copolymer ที่ใช้ในการปลูกป่า สักทอง กฤษณา ยางนา ตะกู เพาว์โลเนีย ฯลฯ นะครับ แต่ “สารอุ้มน้ำ” นี้ ไม่เหนียวลื่นเหมือนกับ “สารอุดบ่อ” ตรงกันข้ามเมื่อสัมผัสกับน้ำแล้วเขาจะพองขยายตัวได้อีกถึง 200 – 400 เท่า เมื่อนำไปใส่โคนต้น หรือ รองก้นหลุมปลูก ก็ช่วยทำให้ต้นไม้ไม่ว่าจะเป็นไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้กระถาง พืชไร่ ไม้ผล ข้าว อ้อย กระท้อน มังคุด ลองกอง ส้ม เงาะ ลำไย ฯลฯ สามารถที่จะรอดพ้นจากอาการยืนต้นตายเพราะขาดน้ำ ช่วยประหยัดเวลา ประหยัดต้นทุนในเรื่องของการให้น้ำ ไม่ต้องรดน้ำทุกวัน ความสามารถในการอุ้มน้ำของ สารอุ้มน้ำนี้ อาจจะไม่ต้องรดน้ำได้เป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน หรือครึ่งปีทีเดียว หรือถ้าเป็นการปลูกป่า (สักทอง กฤษณา ยางนา อื่นๆ) บนภูเขา ก็สามารถใช้สารอุ้มน้ำ (Polymer) รองก้อนหลุมปลูกตั้งแต่ต้นฝน แล้วก็รอไปจนถึงฤดูฝนปีถัดไปได้โดยไม่ต้องรดน้ำเลยก็ยังได้

ส่วนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเกี่ยวกับ สารอุดบ่อ (polyacrylamide) ในการช่วยทำให้เรามีสระน้ำประจำไร่นานั้นก็ถือเป็นเรื่องที่น่าจะช่วยดูแลแก้ไขปัญหาเรื่องภัยแล้งให้กับพี่น้องเกษตรกรได้ค่อนข้างดี เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีการใช้แผ่นพลาสติก พี.อี. ตามแบบระบบของญี่ปุ่นด้วยการนำไปปูที่พื้นบ่อ ต้นแบบที่ว่านี้ท่านผู้อ่านสามารถตามไปดูได้นะครับอยู่ที่ไร่สุวรรณวาจกกสิกิจ อำเภอ ปากช่อง โดยมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการทำให้บ่อสามารถกักเก็บน้ำได้ก็เกือบ 1,000,000 บาท (สามารถสอบถามกับเจ้าหน้าที่ไร่สุวรรณวาจกกสิกิจที่เกี่ยวข้องได้นะครับ) แต่เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมแบบไทยๆเราด้วยการใช้สารอุดบ่อกับหินแร่ภูเขาไฟ ก็น่าจะตกอยู่ประมาณ ไม่เกินไร่ละ 1,600 บาท ต้นทุนดังกล่าวประกอบด้วยการใช้ สารอุดบ่อ 2 กิโลกรัม คลุกผสมกับ หินแร่ภูเขาไฟ สเม็คไทต์ (Smectite) หรือ เบนโธไนท์ (Bentonite) อีก 100 กิโลกรัม ใช้ได้กับพื้นที่สระน้ำ 1 ไร่ ซึ่งถือว่าประหยัดและคุ้มค่ามากๆ แถมมีอายุการใช้งานแบบปีชนปี ฝนชนฝน หรืออาจจะนานได้หลายปีถ้าไม่ปล่อยให้น้ำแห้งพื้นสระแตกระแหง เพียงเท่านี้เราก็สามารถสร้างสระน้ำประจำฟาร์มส่วนตัวของเรามีประสิทธิภาพในการเก็บกักรักษาน้ำไว้ใช้ในการเกษตรได้อย่างยั่งยืนต่อไป

วิธีการทำให้ทำการหว่าน สารอุดบ่อ (polyacrylamide) ร่วมกับหินแร่ภูเขาไฟ สเม็คไทต์ (Smectite) หรือ เบนโธไนท์ (Bentonite) ให้ทั่วพื้นบ่อ แล้วทำการหว่านทรายหยาบทรายละเอียดหรือจะเป็นดินที่ขอบบ่อหลังจากขุดใหม่ๆ มาหว่านโปรยเกลี่ยทับให้ทั่ว แล้วทำทับ บด อัด ให้แน่นด้วย ขอนไม้หรือสามเกลอ นับจากนี้สระน้ำของเราก็มีความพร้อมต่อการรองรับน้ำฝนที่ตกลงมา หรือจะสูบหรือวิดน้ำจากคลองชลประทานหรือบ่อตอก บ่อบาดาลก็ได้เช่นเดียวกัน เมื่อน้ำลงไปอยู่ในสระ สารอุดบ่อ ก็จะทำปฏิกิริยาดังเช่นที่ได้กล่าวไว้ในตอนแรก รอจนเมื่อน้ำเต็มสระแล้วเราก็สามารถใช้ ภูมิปัญญาชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการสร้างเมือกธรรมชาติ (Bio Slam) เสริมเข้าไปช่วยอีกทางหนึ่ง โดยการทำให้พื้นบ่อเกิดเมือกหรือตะไคร่น้ำขึ้นมาเหมือนกับ ห้วย หนอง คลอง บึง ในสมัยก่อนซึ่งเมื่อลองนึกภาพว่าเราได้จูงควายลงไปเล่นน้ำแบบนิยายเรื่อง ขวัญ-เรียม เมื่อมีโอกาสที่เท้าสัมผัสกับพื้นจะรู้สึกได้ว่ามีความลื่นคล้ายมีเมือก หรือตะไคร่น้ำอยู่ที่พื้นบ่อ นั่นแหละครับ คือเมือกธรรมชาติ (Bio Slime) นั่นเอง เราสามารถสร้างมันขึ้นเองโดยการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือมูลสัตว์นำไปหว่านโรยให้ทั่วบ่อหลังจากปล่อยน้ำได้ที่แล้ว หรือถ้ากลัวว่าน้ำจะเน่าเพราะใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกมากเกินไป ก็แนะนำให้นำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกห่อใส่ผ้ามุ้งเขียวไว้ก็ได้แล้วนำไปปักไว้ตามจุดต่างๆ เมื่อน้ำเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเขียวก็ยกขึ้นไว้ขอบบ่อ เพราะนั่นแสดงว่าเกิดเมือก (Bio Slime) ที่พื้นบ่อขึ้นมาแล้วด้วยเช่นกัน เพียงเท่านี้เราก็สามารถสร้างเมือกธรรมชาติเสริมประสิทธิภาพกับสารอุดบ่อให้แก่สระน้ำประจำฟาร์มเขาเราได้ไม่ยากแล้วล่ะครับ หลังจากนี้ยังอาจจะนำไรแดง กุ้งฝอย มาปล่อยสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่งก็ได้เช่นเดียวกันนะครับ

 

มนตรี บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com

ใช้สารอุ้มน้ำ (โพลิเมอร์) ปลูกอ้อยสู้ภัยแล้ง ประหยัดต้นทุน

May 15, 2016

เหตุการณ์หลายๆอย่างที่เกิดขึ้นมาตลอดระยะเวลาในห้วงช่วงสิบปีมานี้ ดูเหมือนว่าจะเป็นเหตุแห่งชนวนของการเกิดสงครามที่เราหลายคนอาจจะไม่รู้ตัว  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแก่งแย่งชิงดีในเรื่องพื้นที่เหนือมหาสมุทรระหว่างญี่ปุ่นกับจีน เกี่ยวกับหมู่เกาะเตียวหวีไถ (เมื่อชาวจีนเรียก) หรือหมู่เกาะเซ็นกากุ (เมื่อชาวญี่ปุ่นเรียก) ต่างก็อ้างกรรมสิทธิ์ว่าเป็นของตนเอง จนนำมาซึ่งเหตุการณ์ประท้วงระหว่างชาวจีนและญี่ปุ่น

นอกนี้แล้วเหตุการณ์ระหว่างจีนกับน้องๆอาเซียนอย่างเช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ก็มีปัญหาเกี่ยวกับเกาะแก่งในทะเลจีน ซึ่งทำให้เวียดนามถึงกับยุติการส่งผักผลไม้ไปขาย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียต้องขอให้อเมริกาเข้ามาช่วยดูแลแก้ปัญหา มีการนำเอาเรือรบมาลาดตระเวนหยั่งเชิงท่าทีกับจีน จนเกือบจะรบกันก็มีมาแล้ว
จีนนั้นพยายามที่จะแผ่อิทธิพลในฝั่งเอเชียให้รวดเร็วและเพิ่มมากขึ้น มีการร่วมมือกับรัสเซียเพื่อสร้างพันธมิตรโดยการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน รัสเซียขายก๊าซและน้ำมันให้จีน ให้ส่งสินค้าด้านเกษตรเข้ารัสเซีย  อเมริกาพอรู้ทางอยู่บ้างก็ดัดหลังรัสเซีย เพราะรู้ว่ารัสเซียนั้นใช้นโยบายใช้ไข่หลายฟองเอาไว้ในตระกร้าเดียวกัน คืออเมริการู้ว่ารัสเซียมีรายได้หลักส่วนใหญ่มาจากการขายก๊าซและพลังงาน อเมริกาจึงขุดแร่ธาตุก๊าซพลังงานที่เรียกว่า เชลล์แก๊สหรือน้ำมันในชั้นหินดินดานในประเทศตนเองออกมาใช้ โดยอ้างว่าเพิ่งขุดพบ โดยแท้จริงแล้วก็ทราบมาตั้งนานแล้ว แต่ตั้งใจนำออกมาเพิ่มซัพพลายแชร์ตลาดโอเปกให้มีน้ำมันมากขึ้น
ปริมาณน้ำมันในกลุ่มโอเปกบวกกับน้ำมันของอเมริกาทำให้โอเวอร์ซัพพลาย ราคาน้ำมันจึงดิ่งร่วงหล่นลงเหว จาก 100 เหรียญต่อบาร์เรลลดลงเหลือ 40 -50 เหรียญต่อบาร์เรล ทำให้น้ำมันราคาถูกลงอย่างมาก รายได้รัสเซียก็ลดน้อยถอยลง ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลกอยู่เหมือนกันว่าในห้วงช่วงที่ไทยเศรษฐกิจแย่ รัสเซียที่กำลังจากมาซื้อหาสินค้าเกษตรจากไทยทั้งไก่ กุ้ง ผัก ผลไม้ ก็กลับมามีเศรษฐกิจสะดุดหยุดกึกเหมือนเราในห้วงช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน เหมือนกับยุควิกฤติต้มยำกุ้ง รัสเซียจึงต้องกล้ำกลืนฝืนทนประคองตัวและเฝ้าดูสถานการณ์ด้วยใจระทึก
นอกนั้นไม่พออเมริกายังส่งนางฮิรารี่ คลินตันเข้ามาประเทศที่ตนเองเคยคัดค้านต้านทานคว่ำบาตรอย่างเมียนร์มา เพื่อคานอำนาจกับจีนในยุครัฐบาลบารัค โอบามาหนึ่ง จึงทำให้จีนก็เร่งสร้างพันธมิตรเป็นพี่ใหญ่ใจดีแก่น้องๆ ชาวอาเซียนอย่างมากโดยเฉพาะกลุ่ม CLMV มีการช่วยเหลือให้งบประมาณสร้างงานสาธารณูปโภคในประเทศเหล่านี้ค่อนข้างมาก แต่โดยเงื่อนงำบางทีจีนก็มีหางโผล่ให้เห็นอยู่บ่อยๆ เมื่อตนเองเริ่มแข็งแกร่ง จากพี่ใหญ่ใจดีก็มักจะกลายเป็นมหาโจรชี้โน่น นี่ นั่น ว่ามันเป็นของตนเอง โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ในพื้นที่เกาะแก่งเล็กๆน้อยๆ ไม่มีค่าเมื่อในอดีต จนทำให้เกิดการระหองระแหงกับน้องๆ อาเซียนเป็นประจำ อีกทั้งเรื่องของการสร้างเขื่อนเหนือน่าน้ำโขงและสาละวิน ที่ทำให้ประเทศอาเซียนที่รอน้ำใต้เขื่อนจีนไม่พอใจกันหลายประเทศ นี่ก็อาจจะเป็นเหตุหนึ่งที่โครงการความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP อาร์เซ็ป ต้องเลื่อนการเซ็นต์สัญญาไปปีหน้าโน่น
หลังจากนั้นความโกลาหลวุ่นวายในหลายแห่งทั่วโลกก็เกิดขึ้นไปด้วยพร้อมๆกัน โดยเฉพาะกลุ่มการร้าย IS ที่ก่อเหตุสะเทือนขวัญล่าสุดที่ประเทศฝรั่งเศสมีคนตายไป 250 คน ทำให้ประธานาธิบดีฝรั่งเศสต้องออกมาประกาศสงคราม ส่วนทางรัสเซียนั้นก็ถือเป็นกำลังหลักในการประกาศตัวล้มล้างกลุ่ม IS โดยที่อเมริกามีท่าทีวางเฉยและมีแต่คำพูดไม่มีการปฏิบัติที่ชัดเจน จนทำให้รัสเซียโดยเฉพาะท่านประธานาธิบดี วราดิเมียร์ ปูตินเกิดความสงสัยว่าใครกันแน่ที่อยู่เบื้องหลังให้ ทุน อาวุธยุทธโธปกรณ์แก่กลุ่ม IS  รัสเซียนั้นมีการส่งเครื่องบินรบทิ้งระเบิดทำลายกลุ่ม IS มาตลอดโดยที่อเมริกามองดูเฉยไม่ลงทุน ไม่ร่วมมือ ไม่ให้ความช่วยเหลือให้สมกับศักดิ์ศรีตำรวจโลกแม้แต่น้อย
ล่าสุดนั้นเครื่องบินรบ SU-24 ของรัสเซียเกิดถูกสอยด้วยเครื่องบิน F-16 ของตุรกี ซึ่งถือว่าเป็นสมุนของอเมริกาตกไป 2 ลำโดยที่นักบินทั้งสองคนที่ดีดตีดตัวออกมาจากเครื่องบินได้ทัน แต่มีหนึ่งคนเสียชีวิตโดยการถูกยิงจากพื้นดิน ทำให้รัสเซียไม่พอใจเป็นอย่างมาก  ตัดความสัมพันธ์หลายทางกับตุรกีและเปรยว่าตุรกีจะต้องเสียใจอย่างหนักกับเหตุการณ์ในครั้ง
เหตุการณ์เงื่อนงำต่างๆ เกิดขึ้นตอนนี้ก็เริ่มชักจะต่อเป็นจิ๊กซอได้ไม่ยากว่ามีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดสงครามขึ้นก็เป็นได้ หรือแท้ที่จริงสงครามได้เริ่มมานานแล้วก็ไม่ทราบ ไม่ว่าจะเป็นสงครามค่าเงิน สงครามทุน สงครามการกีดกันทางการค้าทั้งที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษี จนมีเครื่องไม้เครื่องมือเกิดขึ้นมาบานเบอะเยอะแยะ ไม่ว่าจะเป็น IMF, TPP, RCEP, FTA, IUU, AIIB, WorldBank, NATO, AEC, EU ฯลฯ ซึ่งถือว่าเป็นภาวะหน้าสิ่วหน้าขวาน เพราะไม่ว่ายุคใดสมัยใดเมื่อเกิดภาวะสงครามผู้คนชนในประเทศนั้นๆ ล้วนจะต้องเผชิญกับสภาวะที่เรียกว่า ข้าวยาก หมากแพง อพยพเคลื่อนย้ายหนีวิถีกระสุนตก หนีลูกระเบิด ไม่มีเวลาอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ไม่มีเวลาทำมาหากิน เพราะฉะนั้นถ้าพวกเราชาวไทยถ้าไม่อยากให้ประเทศของเรากระทบกับเรื่องสงครามที่ไม่แน่ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่นั้น ด้วยการทำให้ประชากรของเราแข็งแรงมั่งคั่งทางกายและจิตใจก็คงต้องอาศัยหลักเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ หนึ่งไร่หนึ่งแสนมาปรับใช้กันดูเพื่อเป็นเสบียงชีวิตให้แก่ตนเองได้ทั้งทางกายและจิตใจให้มีความมั่นคงแข็งแรงไปจนตลอดสิ้นล้มหายใจก็น่าจะช่วยได้บ้าง ไม่มากก็น้อย ลองดูนะครับ

มนตรี  บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ  www.thaigreenagro.com

 

อากาศหนาว ความชื้นน้อย ป้อนกันลมพัดพาน้ำออกจากผิวดิน

December 2, 2014

ย่างเข้าสู่ช่วงหน้าหนาวเข้าไปทีละน้อยๆ หนุ่มสาวหลายคู่คงได้เริ่มหาฤกษ์หายามในการเข้าสู่พิธีวิวาห์หมั้นหมายกันตั้งแต่เนิ่นๆก่อนที่จะเริ่มงานกันในช่วงนี้ที่เป็นช่วงหน้าหนาว เนื่องด้วยบรรยากาศที่เป็นใจทั้งคนแต่งและคนจัดงาน โดยเฉพาะคนต่างจังหวัดที่จัดงานกลางทุ่งนา หรือพื้นที่กลางแจ้งนั้น เรื่องฟ้าเรื่องฝนถือว่ามีความสำคัญ มิฉะนั้นอาจจะทำให้งานนั้นล่มเอาได้ง่ายๆ เนื่องด้วยแขกเหรื่อไม่สามารถที่จะมาร่วมงานกันได้นั่นเอง
อากาศที่หนาวเย็นนั้นก็ยังมีผลกระทบกับพืชด้วยเช่นกันนะครับท่านผู้อ่าน เพราะว่าความชื้นทั้งในพื้นดิน ในอากาศนั้นจะน้อยลง ทำให้พืชได้รับผลกระทบทำให้เกิดอาการแห้งเหี่ยวเฉาเอาได้ง่ายๆ ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศที่ลดน้อยถอยลงเนื่องด้วยลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดเอาความหนาวเย็นและแห้งจากประเทศจีนพัดพาดผ่านบ้านเรานั้น ได้นำเอาความชื้นหอบติดไปลงทะเลฝั่งอันดามันด้วย ทำให้พื้นดินแห้งแตกระแหงใบไม้แห้งเหลืองหยุดการเจริญเติบโต พักตัวเพื่อสะสมอาหาร
การดูแลรักษาความชุ่มชื้นในดินจึงเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะการใช้เศษตอซังฟางข้าว หรือเศษซากเหลือใช้จากอินทรีย์วัตถุจากไร่อ้อย กิ่งไม้ใบหญ้าที่ได้จากการตัดแต่งกิ่งสวนมะม่วง มะนาว ลางสาด ลองกอง มังคุด ฯลฯ ถ้าเป็นดุ้นชิ้นใหญ่หน่อยก็ให้ทำการหั่น สับ บด ให้ละเอียดเสียก่อน หรือจะนำไปหมักเป็นปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกก็ได้ เพื่อความสะดวกในการนำไปใช้งาน ในส่วนของการคลุมผิวดิน แต่การใช้เศษตอซังฟางข้าวและใบอ้อยนั้นก็ช่วยทำให้เราได้ปุ๋ยได้อาหารให้พืช และแถมยังช่วยลดการเผาตอซังฟางข้าวและใบอ้อย ช่วยลดโลกร้อน ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกไปสู่ชั้นบรรยากาศได้เป็นอย่างดี
อินทรียวัตถุเมื่อนำไปคลุมผิวหน้าดิน คลุมโคนต้นก็จะช่วยดักน้ำและความชื้นมิให้สูญเสียไปสู่อากาศโดยง่าย อีกทั้งทำหน้าที่เป็นบ้านช่วยบังแสงแดดให้จุลินทรีย์ลดจำนวนการตายและการสูญเสียกลุ่มของจุลินทรีย์ดีมีประโยชน์ไม่ว่าจะเป็น แอคติโนมัยซิท โปรโตซัว มัยคอร์รัยซ่า ไรโซเบียม ไส้เดือน ฯลฯ ซึ่งถือว่าล้วนแต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่ช่วยรักษาคุณภาพของดินให้ดีอยู่ตลอดเวลา หรือในกรณีที่ขาดแคลนแหล่งน้ำอย่าหนักหนาสาหัสก็ควรใช้สารอุ้มน้ำโพลิเมอร์เข้ามาช่วยด้วย โดยสารอุ้มน้ำโพลิเมอร์ 1 กิโลกรัม เมื่อนำไปแช่น้ำ 200 ลิตรทิ้งไว้ 3 – 4 ชั่วโมงก็จะพองขยายตัวออกมาอย่างเต็มที่ หรือถ้าไม่รีบไม่ร้อนก็สามารถทิ้งไว้หนึ่งคืนก่อนนำไปใช้งานก็ได้
นำโพลิเมอร์ที่พองขยายตัวแล้วไปส่รองก้นหลุมก่อนปลูก หรือจะนำไปใส่ไว้ข้างต้นไม้หรือพืชที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้ง ยืนต้นตายก็ทำได้เช่นกัน โดยการขุดหลุมลึกลงไปสัก 50 x 50 x 50 จะเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับขนาดของพืชชนิดนั้น เมื่อนำโพลิเมอร์ใส่ลงไปแล้วทำการกลบให้มิดชิดอย่าให้โดนแสงแดด เพื่อที่จะได้กักเก็บความชื้นไว้ได้มากๆ ก็จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดินได้อีกทางหนึ่ง หรือจะใช้ไบโอฟิล์ม 200 (โพลิเอคริลามายด์) 5 กรัม ละลายน้ำ 1 – 5 ลิตร แล้วนำไปใส่ในถัง 200 ลิตร ฉีดพ่นเพื่อทำหน้าที่เป็นม้อยเจอร์ไรเซอร์ให้พืช ทำให้พืชมีใบเงางามเขียวเข้มเพราะสูญเสียน้ำไปกับอากาศได้น้อยลง ช่วยทำให้พืชไม่เครียด รักษาฟอร์มของต้นได้ดี ไม่แห้งเหี่ยวเฉาโดยง่าย

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

ดินเสื่อมโทรม พืชอ่อนแอ

December 2, 2014

สภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิ ฤดูกาลในแถบเส้นศูนย์สูตรนั้นมีความแตกต่างจากโซนหรือทวีปในเขตอบอุ่นหรือเขตหนาว เพราะกิจกรรมของพืชและสัตว์ล้วนดำเนินไปอย่างรวดเร็ว พืชสามารถเจริญเติบโต ผลิใบ แตกกิ่งก้านสาขาเจริญเติบโตได้ง่ายดายกว่าพืชเมืองหนาว พืชชนิดเดียวกันปลูกในบ้านเราใช้เวลาเพียงสี่ซ้าห้าเดือน แต่ถ้านำไปปลูกแถบออสเตรเลีย ยุโรป อเมริกา อาจจะต้องใช้เวลาเป็นสองสามปี ถึงจะโตได้เท่าเทียมกัน ถึงแม้ว่าพืชเมืองหนาวบางชนิดจะเติบโตได้ดีกว่าบ้านเราก็จริง แต่ถ้าหามองโดยรวมแล้วก็ถือว่าพืชและสัตว์ในเขตอบอุ่นนั้นส่วนใหญ่มีกิจกรรมและการเจริญเติบโตที่มากและเร็วกว่า
ยิ่งถ้ามองลึกลงไปในดินนั้น ไม่ว่าจะเป็นไส้เดือน จุลินทรีย์ แอคทิโนมัยซีท มัยคอร์รัยซ่า ฯลฯ ล้วนแต่สร้างกิจกรรมย่อยสลายอินทรียวัตถุ ทำให้เกิดเนื้อดินได้ง่าย และก็เปื่อยผุพังย่อยสลายง่ายด้วยเช่นเดียวกัน การถางป่าปลูกพืชบนพื้นที่ป่าเปิดใหม่อาจจะได้ผลผลิตดีในห้วงช่วงสองสามปีแรก หลังจากนั้นก็จะค่อยๆ ลดน้อยถอยลง จนต้องเพิ่มเติมเสริมด้วยการใส่ปุ๋ย ส่งผลทำให้พืชและเนื้อดินมีคุณภาพและสารอาหารที่เป็นวัฎจักรคืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินค่อยลดน้อยต่ำลงไปเรื่อยๆ จากพืชที่ได้รับสารอาหารจากดินที่ค่อยๆเสื่อมโทรมลงไปทีละน้อย พืชจะเจริญเติบโตแตกต่างจากพืชที่อยู่ในป่าสมบูรณ์หรือป่าดิบชื้น ถ้าไม่มีการเคลื่อนย้ายถ่ายเทตะกอนปากแม่น้ำ หรือกระแสน้ำหลากที่พัดเอาอินทรียวัตถุ ฮิวมัสจากป่าเขาลำเนาไพรเข้ามาสู่ท้องทุ่งพื้นที่ราบ พื้นที่เหล่านี้ก็จะขาดแคลนแร่ธาตุและสารอาหาร พื้นดินนอกพื้นที่ป่าสมบูรณ์ นอกพื้นที่ป่าดิบชิ้น จะเพาะปลูกอะไรก็มีการเจริญเติบโตแพ้ดินที่อยู่ในป่า อีกทั้งเนื้อดินจากอินทรียวัตถุจะถูกทำลายได้ง่าย แตกต่างจากเนื้อดินที่พัฒนามาจากอนินทรีย์หินแร่
ดังนั้นพื้นที่เกษตรโดยทั่วไปในประเทศไทย เมื่อทำการเพาะปลูกแล้วมีการเติมอินทรียวัตถุจากหน้าดินหรือป่าเปิดใหม่พืชก็จะตอบสนองต่อการใส่ปุ๋ยได้ค่อนข้างดี หรือไม่ก็จะต้องสนองต่อกลุ่มวัสดุปรับปรุงบำรุงดินซึ่งเห็นได้ชัดเจนในยุคนี้ แม้กระทั่งการใช้กลุ่มของวัสดุหินปูนอย่าง โดโลไมท์ ฟอสเฟต ยิปซั่ม ปูนมาร์ล ปูนขาว ฯลฯ ชาวบ้านก็ยังได้รับความรู้สึกว่าพืชมีการตอบสนองต่อการใส่ปุ๋ยได้ค่อนข้างดีกว่าแต่ก่อน ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเพาะกลุ่มวัสดุปูนเหล่านี้ได้ไปปรับปรุงแก้ไขดินกรด ดินเปรี้ยวที่เกิดจากการสะสมซัลเฟตจากปุ๋ยเคมี จึงทำให้ปลดล๊อคแร่ธาตุและสารอาหารในดินออกมาเป็นประโยชน์ต่อพืชได้ค่อนข้างดี
จะอย่างไรก็ตามกลุ่มของวุสดุปรับปรุงบำรุงดินในหมวดของหินแร่ภูเขาไฟก็กำลังเป็นที่นิยมไปทั่วโลก โดยเฉพาะแหล่งของหินแร่ภูเขาไฟที่ให้แร่ธาตุสารอาหารเกือบครบโภชนาการของพืช (หลัก รอง จุลธาตุและเสริม) โดยเฉพาะซิลิก้านั้นได้รับความสนใจจากด๊อกเตอร์ทั่วโลกในการค้นคว้าวิจัยในการใช้เพื่อป้องกัน โรค แมลง เพลี้ย หนอน ราและไร และที่สำคัญการนำหินแร่ภูเขาไฟเพื่อใช้ในการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินนั้น ได้มีการทดสอบทดลองมาค่อนข้างยาวนาน (การปลูกพืชผักปลอดสารพิษ ด้วยภูไมท์ : อ. ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ) ว่าสามารถช่วยให้พืชมีภูมิต้านทาน มีความแข็งแกร่ง เพิ่มน้ำหนัก รสชาติดี ฯลฯ เหมาะต่อพื้นที่นอกป่าสมบูรณ์ และผู้ที่ปลูกพืชเป็นแบบระบบอุตสาหกรรม คือปลูกเป็นจำนวนมาก หรือปลูกเชิงเดี่ยว จะช่วยให้พืชได้รับแร่ธาตุและสารอาหารที่จำเป็นได้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะการใช้ร่วมกับปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกปุ๋ยอินทรีย์ ในระยะยาวแทบจะไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีได้เลย

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

ดินดำน้ำชุ่ม อุ้มปุ๋ยด้วยแร่ธาตุหินแร่ภูเขาไฟ

December 2, 2014

เป็นที่ทราบกันดีนะครับท่านผู้อ่าน ว่าดินป่าสมบูรณ์ดินป่าเปิดใหม่ที่พี่น้องชาวไร่ชาวนาชาวเขาได้ถากถางในปีแรกๆ นั้น ปลูกอะไรก็จะเจริญเติบโตงอกงามสมบูรณ์ ผลลิตที่ออกมาก็เก็บเกี่ยวได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และหลังจากนั้นก็จะค่อยทยอยน้อยลงไปทีละน้อยๆ จนต้องมีการเติมเสริมปุ๋ยทางดินและทางใบเข้ามาช่วย เพื่อรักษาอัตราผลผลิตให้คงเดิมหรือมากกว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะประเทศไทยเราอยู่ในเขตมรสุม ร้อนชื้น อุดมไปด้วยจุลินทรีย์ รา แบคทีเรียและไส้เดือน ที่ต่างช่วยกันดำรงคงกิจกรรมย่อยสลายเศษซากอินทรีย์วัตถุที่ได้จากธรรมชาติให้กลายเป็นปุ๋ยสะสมอยู่ในดินเป็นจำนวนมาก พื้นดินที่มีพืนปกคลุมอยู่ตลอดเวลาและผ่านเวลาที่ยาวนาน จึงเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ จากเศษไม้ใบหญ้าที่ร่วงหล่นทับถมลงมานั่นเอง

แต่เมื่อถูกมนุษย์คุกคามถากถางและมีการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวลงไปเป็นจำนวนมากและถี่ ทรัพยากรและแร่ธาตุในดินนั้นก็พร่องร่อยหรอลดน้อยถอยลงไปเป็นธรรมดา แตกต่างจากดินในทวีปอื่นๆ โดยเฉพาะเมืองหนาวนั้นที่มี่ฤดูกาลมากถึง 4 ฤดูนั่นก็คือ ฤดูหนาว ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง ฤดูใบไม้ผลิ ดินของเขาอาจจะอุดมไปด้วยแหล่งแร่ธาตุและสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชได้ค่อนข้างมากและดีกว่าอินทรีย์วัตถุที่ย่อยสลายและสูญหายเร็ว โดยชั้นของเนื้อดินเต็มไปด้วยแร่ธาตุและสารอาหารที่จำเป็นต่อพืชจากชั้นของหินแร่ แต่บ้านเรานั้นจริงๆจะมีอยู่แค่เพียง 2 ฤดูกาลคือ ฤดูฝนและฤดูแล้ง ทำให้ต้องอาศัยแร่ธาตุและสารอาหารที่ได้จากการย่อยสลายของอินทรียวัตถุที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก (ยกเว้นพื้นที่ที่ถูกลักลอบตัดไม้ทำลายป่า) ชั้นของแร่ดินก็มีแร่ธาตุและสารอาหารน้อย ยกเว้นพื้นที่บริเวณภูเขาไฟเก่า ดินในพื้นที่เหล่านี้จะอุดมไปด้วยแร่ธาตุและสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชได้ค่อนข้างดี เช่น ลพบุรี (เทือกเขาพนมฉัตร, บุรีรัมย์ (ภูกระโดง), สุรินทร์ (ภูสวาย), ศรีษะเกษ (ภูฝ้าย), อุบลราชานี (ภูน้อย) และข้ามโขงไปยังฝั่งลาว ทุ่งหญ้าโบโลเวน์ พื้นที่เหล่านี้เมื่อปลูกพืชจะเจริญเติบโตค่อนข้างดี กิ่ง ก้าน ใบ มีสีสันสดใส รสชาติอร่อย กรอบ เพราะมีซิลิก้าที่ละลายน้ำได้ออกมาเป็นประโยชน์ต่อพืช

การที่จะช่วยทำให้ดินที่เราเพาะปลูกเป็นดินดำน้ำชุ่มอุ้มปุ๋ยก็จำเป็นที่จะต้องจำแลงแปลงพื้นที่เพาะปลูกของเรา โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่นอกเหนือจากเขตภูเขาไฟเก่า ก็จำเป็นที่จะต้องอาศัยหินแร่ภูเขาไฟจากถิ่นอื่น มาใส่เสริมเพิ่มเติมลงไป หินแร่ภูเขาไฟที่ผ่านความร้อนหลายร้อยหลายพันองศา เมื่อระเบิดเกิดขึ้นเป็นลาวาและละอองเถ้าภูเขาไฟ จะมีค่าความสามารถในการจับตรึงและแลกเปลี่ยนประจุ (C.E.C.) และตัวของเขาเองอุดมไปด้วยแร่ธาตุและสารอาหารต่างๆ ที่พืชสามารถย่อยสลายดูดกินได้ ทำให้ดินในบริเวณนั้นทำหน้าที่คล้ายตู้เย็นให้พืช พืชหิวก็กินอิ่มก็หยุด ทำให้พืชไม่เฝือใบ อีกทั้งซิลิก้าที่ละลายน้ำได้เมื่อสะสมในผนังเซลล์พืชช่วยให้มีภูมิต้านทานต่อโรคแมลงเพลี้ยหนอนราไรได้เป็นอย่างดี

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

อาบลม ห่มดิน ทำกินวิถีพอเพียง

December 2, 2014

ถ้าพี่น้องเกษตรกรรู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งก็ชนะร้อยครั้ง ตามคำกล่าวยอดฮิตของผู้เชียวชาญตำราพิชัยสงคราม “ซุนหวู่” ซึ่งหมายถึงการที่จะทำอะไรก็แล้วแต่ รู้จักศึกษาหาข้อมูลแล้วนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประมวลผลแล้วนำมาปรับใช้ได้อย่างรอบด้าน ก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้ค่อนข้างสูง อย่างเช่น พวกเราชาวไทยส่วนใหญ่ที่มีความเชียวชาญในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ก็จำเป็นต้องรู้ในเรื่องที่เกี่ยว ดิน ฟ้า อากาศ รวมทั้งสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในดินและระบบนิเวศน์เพื่อที่จะได้ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาอาชีพของเราได้อย่างถึงลูกถึงโคน ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้สอนให้คนไทยและรัฐบาลนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศชาติ

การที่เราทำความรู้จักสภาพภูมิอากาศและฤดูกาลรวมทั้งโรคและแมลงในแต่ละช่วงฤดูก็สามารถที่จะดูแลแก้ปัญหาพืชที่นำมาปลูกได้อย่างทันท่วงที โอกาสที่พืชเสียหายก็จะมีน้อย เพราะส่วนใหญ่ก็จะแก้ไขได้ตรงประเด็นและสอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนดินชื้นแฉะควรทำการระบายถ่ายเทน้ำให้รวดเร็วเหมาะสม โดยการอาบลมไม่ปล่อยให้ดินชื้นแฉะหรือถูกปกคลุมด้วยเศษซากอินทรียวัตถุจนหนาแน่นหมักหมม อมเชื้อโรค และเกิดอาการรากเน่าโคนเน่าจนพืชล้มหายตายจากไปต่อหน้าต่อตา ต้องหมั่นสำรวจตรวจตราเสาะหาจุดที่ต่ำที่สุดทำสะดือนา สะดือสวน เพื่อรองรับน้ำส่วนเกิน ก็จะช่วยให้สวนของเรารอดพ้นจากโรคที่มากับฝนปนชื้นแฉะได้

อีกทางหนึ่งถ้าประสบพบเจอกับอากาศที่หนาวเย็น แห้งแล้งก็ต้องรู้จักห่มดินรักษาความนุ่มชุ่มชื้นจากอินทรีย์วัตถุโดยเฉพาะการนำเอาตอซังฟางข้าว หรือเศษซากใบอ้อยที่มีอยู่บานเบอะเยอะแยะในโซนที่ปลูกข้าวและอ้อยจำนวนมาก หรือไม่ก็ใช้ประโยชน์จากเศษซากของพืชที่ได้จากการตัดแต่งกิ่ง นำมาบดสับหั่นย่อยให้มีโมเลกุลที่เล็กลง เพิ่มกระบวนการย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ขี้ควาย จุลินทรีย์ขุยไผ่ จุลินทรีย์หน่อกล้วย ฯลฯ ก็ช่วยทำให้เกิดอินทรียวัตถุและปุ๋ยอินทรีย์นำมาใช้งาน ห่มดินให้นุ่มชุ่มชื้น ลดการคายน้ำจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดพาดผ่านจากประเทศจีนนำความหนาวเย็นและความแห้งมาด้วยและหอบเอาความชุ่มชื้นบนผืนแผ่นดินไทยไปตกหล่นในทะเล ทำให้พืชในระยะนี้มีอาการขาดน้ำแห้งเหี่ยวเฉาได้ง่าย

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreengro.com

มาดูกันซิว่า ไวตาไลเซอร์ กับ ซิลิโคเทรซ นั้นมีลักษณะการใช้ที่แตกต่างกันอย่างไร?

December 2, 2014

มีคำถามและความสงสัยของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของซิลิก้า (Silica) เป็นองค์ประกอบหลักที่ชื่อว่า ไวตาไลเซอร์ (Vitalizer) และ ซิลิโคเทรซ (Silicotrace) ว่ามีรูปแบบและลักษณะการนำไปใช้ที่มีความผิดแผกแตกต่างกันอย่างไรบ้าง หรือถ้าจะมองอีกเหตุผลหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะเกิดความสับสนที่ตัวของชมรมเกษตรปลอดสารพิษเองที่อาจจะไม่ได้มีการอธิบายถึงลักษณะผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจน อีกทั้งถ้าเราดูแบบเผินๆ แบบไม่ตั้งใจ ก็อาจจะมีสิทธิ์ที่จะคิดว่ามีความละม้ายคล้ายคลึงกันเป็นอย่างยิ่ง ว่าเป็นกลุ่มของแร่ธาตุสารอาหารในกลุ่มจุลธาตุ ที่เอาไว้ฉีดพ่นทางใบช่วยในการป้องกันอาการขาดแคลนกลุ่มของจุลธาตุ

ก็ต้องขอบอกไว้ ณ ตรงนี้นะครับว่า จริงๆแล้ว ไวตาไลเซอร์ กับ ซิลิโคเทรซ นั้นมีความแตกต่างทั้งสัดส่วนองค์ประกอบของแร่ธาตุสารอาหารภายในตัวของเขาเอง และวัตถุสงค์ในการใช้งานก็ยิ่งมีความแตกต่างมากเข้าไปอีก เพราะว่าชมรมเกษตรปลอดสารพิษได้พัฒนาซิลิโคเทรซขึ้นมาที่มีส่วนประกอบของ เหล็ก ทองแดง แมงกานีส สังกะสี โบรอน โมลิบดินัม แมกนีเซียมและซิลิก้า เพื่อเอาไว้เติมเต็มแร่ธาตุสารอาหารให้ครบถ้วนอยู่ตลอดทุกช่วงระยะเวลาตั้งแต่เริ่มปลูกระยะต้นเล็กจนไปสู่การเจริญเติบโตในระยะต่างๆ กระทั่งถึงช่วงตั้งท้องติดดอก จึงจะหยุดแล้วเปลี่ยนไปใช้ ไวตาไลเซอร์แทนในช่วงนี้ เพราะว่า ไวตาไลเซอร์นั้นมีส่วนประกอบสำคัญที่ใช้ในกระบวนการพัฒนาพืชให้เกิดเป็นดอกที่สมบูรณ์ จะเห็นว่า ไวตาไลเซอร์นั้นประกอบไปด้วย ซิลิสิค โบรอน สังกะสีและวิตามินอี แค่เพียง 4 ฃนิดในมวลสารร้อยเปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับ ซิลิโคเทรซ ที่มีสารอาหารหลากหลายกว่าในอัตราที่เท่ากัน

นั่นแสดงว่ามีนัยยะบางอย่างของไวตาไลเซอร์ที่มุ่งเน้นในเรื่องของการส่งเสริมให้พืชติดดอกออกผลได้อย่างสมบูรณ์นั้นเอง ทีนี้เราลองมาดูบทบาทและหน้าที่ของสารอาหารทีละตัวในไวตาไลเซอร์กันนะครับ เริ่มที่ซิลิสิค นั้นมีบทบาทช่วยป้องกันการเข้าทำลายของโรคแมลงเพลี้ยหนอนไรราที่จะเข้ามาทำลายดอก และมีบทบาทช่วยในการสร้างการขยายตัวของเซลล์ให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น ตัวที่สองคือ โบรอนทำหน้าที่ขยายรังไข่ เมื่อรังไข่ใหญ่ ดอกก็ใหญ่ และก็มีผลที่ใหญ่ตามมา ส่วนสังกะสีนั้นช่วยในการสังเคราะห์แสง สร้างฮอร์โมนอ๊อกซิน ช่วยให้ขั้วดอก ขั้วผลเหนียว และวิตามินอี ช่วยผสมเกสร และทำให้เกสรไม่เป็นหมัน ทำให้การผสมเกสรดียิ่งขึ้น อันนี้ก็คือหน้าที่ของไวตาไลเซอร์ที่ทำหน้าที่ในเรื่องของการดูแลบำรุงรักษาดอก จะอย่างไรก็ตาม เราจะเริ่มใช้ไวตาไลเซอร์ก่อนการเกิดดอก 1 เดือน เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมแล้วค่อยๆฉีดพ่นไปทุกๆ 7 วัน จนกว่าจะมีผลอ่อนเท่าเม็ดถั่วเขียว แล้วจึงสลับกลับไปฉีดพ่น ซิลิโคเทรซ ดังเดิมไปจนตลอดอายุการเก็บเกี่ยวก็ได้

ทั้งหมดนี้คือการอธิบายขยายความเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผลิตภัณฑ์ที่ชื่อว่า “ไวตาไลเซอร์” กับ “ซิลิโคเทรซ” เพื่อที่ว่าขจะได้เป็นประโยชน์กับเพื่อนสมาชิกบางท่านที่อาจจะเพิ่
มเริ่มเข้ามาศึกษาหาข้อมูลในเว๊บไซด์ http://www.thaigreenagro.com นะครับ จะได้ไม่เกิดความสับสน เพราะเป็นคำถามยอดฮิตที่ผู้อ่านและแฟนคลับหลายท่านติดใจสงสัยและถามกันเข้ามาค่อนข้างบ่อยมาก จึงนำมารวบรวมและเรียงในบทความเป็นการตอบคำถามไปด้วยในตัว (แฮ่ะ ๆ) สำหรับวันนี้ก็เพียงเท่านี้นะครับ สวัสดีครับ

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

ภัยแล้งแห่งเอลณิโญ

December 2, 2014

ปีนี้เป็นปีที่ใช่ว่าจะมีปัญหาภัยแล้งเกิดขึ้นเฉพาะแต่ประเทศไทยเพียงประเทศเดียวเท่านั้นนะครับ เพราะหลายประเทศทั่วโลกก็ประสบพบเจอด้วยเช่นเดียวกัน มีการคาดการณ์กันว่าปีนี้อาหารสัตว์ก็จะแพง เพราะถั่วเหลืองทางอเมริกาก็ไม่สามารถเพาะปลูกได้ตามเป้าหมายอีกทั้งไทยก็ไปส่งเสริมปลูกพืชอื่นแทนข้าวและยางพารา ไม่ยอมรณรงค์ให้ปลูกถั่วเหลืองที่เราต้องนำเข้าปีหนึ่งมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ให้ไปปลูกอ้อย ปาล์ม มันสำปะหลังและข้าวโพดอาหารสัตว์แทน ไม่รู้ว่าเมื่อผลผลิตออกมาล้นตลาดจะมีสภาพเหมือนรัฐบาลยุคก่อนอีกไหมที่เคยรณรงค์ส่งเสริมให้ปลูกยางเป็นล้านไร่ จนมียางทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย อีกทั้งจีน อินเดีย ผลผลิตข้าวก็จะน้อยลง อาจจะต้องสำรองเอาไว้ในประชาชนคนในประเทศของตนเองไว้กินกันเองภายในประเทศเสียเป็นส่วนใหญ่ อันนี้ในบางแง่มุมก็อาจจะช่วยราคาข้าวในประเทศไทยเราได้อานิสงส์ทำให้ราคาข้าวในประเทศเพิ่มสูงขึ้นตามกลตลาดโลกก็เป็นได้ ต้องลองติดตามเฝ้าสังเกตอย่างใกล้ชิด
ปีนี้เป็นปีที่มีเหตุการณ์เอลนิโญเกิดขึ้นด้วยนะครับ คือเกิดความผิดปรกติของอุณหภูมิเหนือน่านน้ำมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้กระแสน้ำอุ่นที่ปกติไหลจากฝั่งตะวันออกมาสู่ฝั่งตะวันตกอ่อนกำลังลง ในภาวะปรกติกระแสน้ำอุ่นจะไหลพัดเอากระแสน้ำอุ่นมากองรวมอยู่ทางฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก จนระดับน้ำชายฝั่งทวีปออสเตรเลีย และเอเชียสูงกว่าระดับน้ำชายฝั่งชิลี เปรู และเอกวาดอร์ถึง 60-70 เซนติเมตร ปรากฎการณ์เอลณิโญทำให้กระแสลมสินค้าตะวันออกกำลังกระแสน้ำอุ่นไหลกลับทำให้ไปกดทับกระแสน้ำเย็นฝั่งตะวันออก (ชิลี เปรู เอกวาดอร์) ทำให้กระแสน้ำเย็นไม่สามารถโผล่ขึ้นมาได้ เกิดหย่อมความกดอากาศต่ำลอยตัวกระจายเหนือพื้นทวีปอเมริกาใต้ ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง
ส่วนฝั่งทวีปออสเตรเลียและเอเชียหย่อมความกดอากาศสูงที่ควบแน่นเหนือผิวน้ำทำให้เกิดสภาวะหนาวเย็นแห้งแล้ง เกิดความแห้งแล้งในทุ่งหญ้าออสเตรเลีย เกิดควันไฟป่าในประเทศอินโดนีเซีย สัตว์ขาดหญ้า ขาดอาหาร พืชไร่ไม้ผลที่ได้รับอิทธิพลจากควันไฟเกิดการแก่สุกเร็วกว่าปรกติ ทำให้เกิดความสูญเสียทางด้านการตลาดอย่างมหาศาล พื้นที่ทางตอนบนของประเทศไทยก็จะมีปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงกว่าทุกๆ ปี สังเกตได้ตั้งแต่ปี 2521 2526 2531 2536 2541 2547 ซึ่งเป็นปีที่มีปัญหาสภาวะภัยแล้งจากเอลณิโญ (ความจริงในห้วงช่วงสี่ส้าห้าปีมานี้เราก็จะเจอปัญหาภัยแล้งซ้ำซากเกือบทุกปีอยู่แล้ว) สังเกตได้จากการหยุดห้ามทำนาปรังทุกครั้งที่มีปัญหาเรื่องความแห้งแล้ง
การดูแลแก้ปัญหาจะหวังรัฐบาลอย่างเดียวก็คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปป่าสมบูรณ์เหนือเขื่อนนั้นกลายสภาพจากไม้ยืนต้นกลายเป็นพืชไร่ ทำให้ระบบนิเวศน์หน้าดินขึ้นมาไม่สามารถกักเก็บดูดซับจับตรึงแร่ธาตุและสารอาหารได้เหมือนเดิม ป่ายุคนี้สามารถกักเก็บน้ำฝนดะเพียง 30 %อีก 70% ไหลลงสู่เขื่อนอย่างรวดเร็วทำให้ เขื่อนต้องรีบปล่อยน้ำออกก่อนกำหนด เพราะรักษาระดับน้ำในเขื่อนไม่ให้อยู่ในจุดที่เกิดความเสี่ยงต่อเขื่อนแตก แต่ถ้าป่าเหนือเขื่อนเป็นป่าดิบชื้น ป่าสมบูรณ์เช่นในอดีตป่าจะกักเก็บน้ำฝนได้มากถึง 70 % และมีน้ำส่วนเกินค่อยๆ ไหลลงสู่เขื่อนอีก 30 % ทำให้เราเห็นน้ำตกได้ยาวนานมีฤดูกาลท่องเที่ยวที่มากกว่าปัจจุบัน
ฉะนั้นการทำสระน้ำประจำไร่นาของตนเองจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ควรจะทำ เพราะจะช่วยให้เรามีน้ำไว้ใช้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้เป็นประจำตลอดทั้งปี ระดับความลึกถ้าเป็นดินเหนียวดินดำน้ำชุ่มก็อาจจะขุดความลึกลงไปสึก 4 -5 เมตร ส่วนพื้นที่ดินทรายให้ขุดความลึกระดับ 6 – 7 เมตร แล้วใช้สารอุดบ่อ 1 – 2 กิโลกรัม (โพลิเอคริลามายด์) คลุกผสมกับกลุ่นของแร่สเม็คไทต์ หรือเบนโธไนท์ 100 กิโลกรัม หว่านกระจายให้ทั่วพื้นบ่อที่กักเก็บน้ำไม่อยู่ โดยเฉพาะพื้นที่ดินทราย อาจจะใช้ทรายหยาบทรายละเอียดหว่านรองพื้นแล้วตามด้วยสารอุดบ่อหลังจากนั้นใช้ดินเดิมจากปากบ่อหว่ากลบทับลงไปอีกครั้งหนึ่ง อาจจะบดอัดแน่นด้วยสามเกลอ(ท่อนไม้ทรงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ฟุต มีด้ามไม้ขนาดเหมาะมือยาวพอเหมาะสมกับความสูงของคนที่จะใช้แล้วนำมาตอกตะปูหรือติดยึดน๊อดให้แน่นทั้งสาม เวลาใช้ให้สามคนจับยกและกระแทกลงไปพร้อมกัน) หรือจะใช้รถแทรกเตอร์ก็ตามแต่จะสะดวก หลังจากนั้นจึงค่อยปล่อยน้ำเพื่อให้สารอุดบ่อทำงาน ขยายพองตัวอุดรอยรั่วประสานกับกลุ่มหินแร่ภูเขาไฟ ทำให้ไปอุดปิดรอยรั่วหรือช่องโหว่ของเนื้อดิน ทำสามารถกักเก็บน้ำไว้ได้แบบปีชนปี ถ้าไม่ปล่อยแห้ง หรือมีฝนตกมาทันก็สามารถเก็บน้ำต่อเนื่องได้หลายปี โดยเฉพาะถ้ามีการหมั่นสร้างน้ำเขียวจากมูลสัตว์เพิ่มเติมด้วย

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com

ฮอร์โมนไข่ ใช้อย่างไรไม่ให้เกิดความสับสน

December 2, 2014

กระแสการใช้ออร์โมนไข่ในการทำมะนาวนอกฤดูมีเพิ่มมากขึ้นทุกๆวัน ไม่รู้ว่ามาจากบทความที่ถูกตีพิมพ์ในหนังสือ “หลากวิธีการบังคับมะนาวนอกฤดู เล่ม 2” ของไม่ลองไม่รู้หรือไม่ เพราะเห็นว่าขายดิบขายดีติดเบสเซลเลอร์ของซีเอ็ดบุ๊คเซนเตอร์ทื่มีอยู่หลายสาขาทั่วประเทศ ทำให้กระแสการปลูกมะนาวนอกฤดูกาลแบบปลอดภัยไร้สารพิษ และไม่ต้องการทรมานต้นมะนาวด้วยการใช้สารแพคโคบิวทราโซน หรือสารโพแทสเซียมคลอเรทที่ใช้ในลำไย นำมาทรมาทรกรรมต้นมะนาวของเราให้บอบช้ำและอายุสั้น อยู่กับเราได้ไม่กี่ปีก็มีอันต้องชำรุดทรุดโทรมล้มตายไปก่อนที่จะถึงวัยอันควร (นั่นก็คือเป็นสิบยี่สิบปีทีเดียวเชียวล่ะครับ)
แต่ถ้าเราไปทรมานเขาด้วยการบังคับให้ออกดอกนอกฤดูด้วยสารเคมีและวิธีการบังคับที่หลากหลายก็ทำให้มะนาวของเรานั้นมีอายุที่สั้นลงอาจจะเหลือเพียง 6 – 7 ปี ก็ตาย เรื่องนี้สำคัญนะครับท่านผู้อ่านโดยเฉพาะชนชั้นกลางที่ลาออกจากงานมาทำมะนาวนอกฤดูในวงซิเมนต์ เพราะซึ่งกิ่งพันธุ์ ซื้อวงซิเมนต์ ซื้อฝา เบ็ดเสร็จก็ตกหลายหมื่นต่อมะนาวจำนวนร้อยต้นหรือร้อยวง ลองคิดกันเล่นๆ นะครับ ค่าวงซิเมนต์ 200 บาท ฝาอีก 100 บาท ค่าต้นพันธุ์อีก 100 – 150 บาท ค่าแรงในการปลูกและเตรียมวัสดุ แค่นี้ก็เหยียบแสนแล้วละเนอะ
แต่ที่สำคัญอยู่ตรงที่กว่าจะดูแลทำนุบำรุงให้โตจนสามารถเปิดดอกได้ก็ใช้ระยะเวลาไปปีกว่าหรือเกือบสองปี กว่าจะทำให้มะนาวออกดอกได้ดังใจต้องอาศัยเวลาและประสบการณ์อีกกว่า 2 -3 ปี รวมเป็น 5 ปี พอจะเริ่มชำนิชำนาญต้นมะนาวในวงซิเมนต์ก็มีอันตรธานล้มหายตายจากไปเสียก่อน ทำให้ทุนหายกำไรหดไปตามๆ กัน แทนที่จะได้กลับเสียเพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีก อันนี้ก็ฝากให้คิดและวางแผนกันให้ดีๆนะครับ มิได้แอนตี้หรือไม่เห็นด้วยกับผู้ที่ชื่นชอบประการใดรับ
ส่วนในเรื่องของฮอร์โมนไข่นั้น ผู้คนสับสนอลหม่านกันเหลือเกินครับกับจุลินทรีย์หน่อกล้วย และการหมักบีทีชีวภาพปราบหนอน และบีเอสพลายแก้วปราบโรคแคงเกอร์ บางคนคิดว่าบีทีชีวภาพหมักไข ก็คือฮอร์โมนไข่ บางคนก็เอาฮอร์โมนไข่ไปหมักปุ๋ยชีวภาพ บางคนก็เอาจุลินทรีย์หน่อกล้วยไปทำปุ๋ยฮอร์โมนอาหารเสริมพืช ทำให้ใช้แล้วก็ไม่ได้ผล แถมทำให้เกิดความสับสนกับผู้เลียนแบบนำไปใช้ต่อ วันนี้ก็อยากจะชี้แจงสักเล็กน้อยนะครับ ว่า ฮอร์โมนไข่นั้นวัตถุประสงค์มีไว้เพื่อ ฉีดพ่นมะนาวเพื่อสะสมอาหาร สร้างสัดส่วนของคาร์บอนให้สูงกว่าไนโตรเจน ง่ายต่อการที่มะนาวจะเปิดตาดอก ส่วนจุลินทรีย์หน่อกล้วยนั้น เน้นการใช้จุลินทรีย์ท้องถิ่น ลงไปสู่แปลงเรือกสวนไร่นา เน้นการย่อยสลายเศษซากอินทรีย์วัตถุตอซังฟางข้าว ให้กลายเป็นปุ๋ยได้รวดเร็วขึ้น เน้นการสร้างกองทัพจุลินทรีย์ท้องถิ่นให้ดำรงคงอยู่เพื่อเป็นทหารคอยคุ้มกันต้นพืชหรือมะนาว อย่าเผลอเอาไปใช้ในการเป็นปุ๋ยหรือฮอร์โมนทีเดียวเชียวนะครับ เพราะว่ามันจะไม่ได้ผล …ส่วนการหมักบีทีชีวภาพปราบหนอน และบีเอสพลายแก้วในการปราบโรคแคงเกอร์นั้นกับสูตรไข่ไก่ โดยมีน้ำ 20 ลิตร ไข่ไก่สด ไม่เอาเปลือก 5 ฟอง น้ำมันพืช 5 ช้อนแกง และสเม็คไทต์ 5 ช้อนแกง (หินแร่ภูเขาไฟลดการบูดเน่าแล้วเกิดก๊าซแอมโมเนีย ไนไตรท์ ทำให้จุลินทรีย์โตช้า) หมักกับเครื่องอัดอากาศ หรือออกซิเจน 24-48 ชั่วโมง แล้วนำมาผสมกับน้ำเปล่าอีก 80 ลิตร อันนี้ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุน เมื่อเทียบกับการใช้จุลินทรีย์ดังกล่าวในรูปแบบเพียงๆ 5 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตร ซึ่งทำให้ต้นทุนอาจจะสุงเกินไปสำหรับเกษตรบางท่าน เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ครับ.

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ http://www.thaigreenagro.com